คลังบทความของบล็อก

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เศรษฐีจีนเห่อของนำเข้า

จับจุดเศรษฐีจีนเห่อของนำเข้า สร้างโอกาสให้สินค้าไทย


เมื่อช่วงกลางเดือน ก.ค. 54 สื่อจีนได้รายงานข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากคนจีนทั้งประเทศ คือ เฟอร์นิเจอร์ยี่ห้อ “ดาวินชี่” (Davinci) ประเทศจีนถูกแฉเทคนิคกลลวง นำเฟอร์นิเจอร์ต้นทุนหลัก 1,000 หยวนที่ผลิตแถวๆ มณฑลกวางตุ้งมาแหกตาผู้บริโภคว่าเป็นสินค้านำเข้าจากอิตาลีที่ตั้งราคาขายต่อชุดถึงหลัก 10,000-100,000 หยวน ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนี้ สำหรับเจ้าของสินค้าและบริการของไทยแล้ว นับเป็นปรากฏการณ์สะท้อนทัศนคติ พฤติกรรม และสภาพความเป็นจริงของผู้บริโภคจีนที่น่า สนใจยิ่ง

กลลวงของ “ดาวินชี่”
สถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีนลงพื้นที่ล้วงลึกข้อเท็จจริงกรณีเฟอร์นิเจอร์ยี่ห้อดาวินชี่ พบว่า สินค้าของดาวินชี่แท้จริงแล้วไม่ใช่สินค้านำเข้าจากอิตาลี 100% ดั่งที่ได้โฆษณากับลูกค้าทั้งหมด วัตถุดิบที่ใช้ผลิตก็มิใช่ไม้ชนิดพิเศษจากอิตาลีอย่างที่อวดอ้าง แต่กลับเป็นแค่เรซิน ไม้อัดจีน และไม้อัดขี้เลื่อยเท่านั้น ซึ่งเรื่องก็แดงขึ้นในที่สุดเมื่อมีลูกค้าที่ซื้อเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงกว่าทองยี่ห้อนี้ได้ไปร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับมาตรฐานของสินค้า โดยในช่วงแรกๆ บริษัทยังคงยืนกรานเสียงแข็งว่าสินค้าตนเป็นสินค้าที่นำเข้าทั้งหมด ก่อนที่จะออกมายอมรับและขอโทษลูกค้าแล้วในหลายวันต่อมาหลังจากนั้น

จากการตรวจสอบของสำนักงานบริหารอุตสาหกรรมและพาณิชย์ (State Administration for Industry and Commerce) นครเซี่ยงไฮ้ พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 เฟอร์นิเจอร์นำเข้าประมาณร้อยละ 10 ของดาวินชี่ แท้จริงแล้วเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตในประเทศ โดยเทคนิคของดาวินชี่คือ นำเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตแถวเมืองตงก่วนส่งออกทางท่าเรือเมืองเซินเจิ้นไปยังประเทศสหรัฐฯ หรืออิตาลี จากนั้นก็นำเฟอร์นิเจอร์ชุดดังกล่าววนส่งกลับเข้ามาในจีนใหม่ผ่านทางท่าเรือเซี่ยงไฮ้ หรือบางครั้งก็ทำเป็นส่งสินค้าออกผ่านเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนไว่เกาเฉียว โดยที่ในความเป็นจริงสินค้ามิได้ออกจากอาณาเขตประเทศจีน เทคนิคเหล่านี้ทำให้สินค้าดังกล่าวของดาวินชี่ได้ชื่อว่าเป็นสินค้านำเข้า ราคาขายจึงเพิ่มจากที่ซื้อจากโรงงานผลิตในจีนเพียงไม่กี่ 1,000 หยวน เป็นหลัก 10,000 หรือ 100,000 หยวน ทีเดียว


ทางการจีนตรวจสอบคุณภาพสินค้าของดาวินชี่


นอกจากการเพิ่มราคาขายเป็นหลายเท่าตัวแล้ว วิธีการดังกล่าวยังทำให้สินค้าส่งออกจากจีนของดาวินชี่ได้รับประโยชน์จากการขอคืนภาษีส่งออกซึ่งแหล่งข่าวคาดว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 36 ล้านหยวน จากยอดขายทั้งหมด 4,000 ล้านหยวนในปี 2553 ด้วย ส่วนการกระทำดังกล่าวถือว่าผิดกฏหมายจีนหรือไม่นั้น นายจู ฉางหลิง ผู้อำนวยการสมาคมเฟอร์นิเจอร์จีน กล่าวว่า สินค้ายี่ห้อต่างประเทศสามารถผลิต ณ ประเทศใดก็ได้ แต่ต้องระบุสถานที่ผลิต ส่วนกรณีที่ผลิตในประเทศแล้วส่งออก จากนั้นนำเข้ามาใหม่ ไม่ถือว่าผิดกฏหมายเพราะมิได้ขัดต่อกฏหมายใดๆ พร้อมทั้งยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันไม่ใช่แค่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เท่านั้นที่กระทำเช่นนี้ ธุรกิจอื่นๆ ก็ใช้เทคนิคนี้เช่นกัน

เศรษฐีจีนเห่อของนอก “รู้เขาหลอก ก็เต็มใจให้หลอก”
ที่แปลกแต่จริงก็คือ ดาวินชี่หลอกผู้บริโภคด้วยเทคนิคนี้มาไม่ต่ำกว่า 6 ปีแล้ว เพราะเมื่อ 6 ปีก่อนดาวินชี่ก็เคยถูกหนังสือพิมพ์ BEIJING BUSINESS TODAY แฉวิธีการดังกล่าวแล้ว แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากสังคมเท่าไหร่ ทำให้ดาวินชี่ยังคงสามารถทำธุรกิจกำไรงามนี้ได้ต่อไปได้อย่างสบาย! นักวิชาการและผู้ที่อยู่ในวงการเฟอร์นิเจอร์ต่างออกมาวิพาษ์วิจารณ์และให้คำตอบต่อปรากฏการณ์สังคมอันน่าพิศวงนี้ว่า

- เพราะดาวินชี่ได้ใช้หลักจิตวิทยาในการสร้างสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง (ที่ไม่ใช่กลุ่มเล็กๆ ในจีนในปัจจุบัน) ที่ต้องการซื้อ “ของแพงที่สุด” ไม่ใช่ซื้อ “ของดีที่สุด”
- นอกจากนี้ ยังมีผู้บริโภคที่ร่ำรวยขึ้นมาในยุคนี้ซึ่งมีทัศนคติต่อการบริโภคว่า หากได้ใช้เงินซื้อของแพงๆ แล้ว จึงจะสบายใจและพึงพอใจ
- ในส่วนของสมาคมของแต่งบ้านแห่งชาติจีน สมทบว่า ดาวินชี่รู้ถึงจุดอ่อนของคนจีนกลุ่มใหม่ที่เมื่อเพิ่งร่ำรวย ก็ต้องการอวดรวยด้วยการซื้อของแพงและมีรสนิยมใช้ของนอกมาเป็นช่องทางทำธุรกิจ
- อีกทั้งยังมีประเด็นเกี่ยวกับความไม่เชื่อมั่นในคุณภาพของยี่ห้อสินค้าในประเทศของผู้บริโภคจีนด้วย


เฟอร์นิเจอร์สไตล์ตะวันตกที่ดาวินชี่อ้างว่านำเข้าจากอิตาลี

ค่านิยมเห่อของนำเข้าของคนจีนยังเข้มข้นถึงขนาดที่ทำให้กระทรวงพาณิชย์จีนออกแรงผลักดันให้คณะรัฐมนตรีจีนพิจารณาอนุมัติปรับลดภาษีสินค้านำเข้า เพื่อหวังกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้คึกคักยิ่งขึ้น แสดงถึงบทบาทของสินค้านำเข้าที่มีอิทธิพลในสังคมจีนไม่น้อย อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวของกระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่ารัฐจะเสียรายได้

ข้อมูลเศรษฐีในจีน
แล้วผู้บริโภคจีนที่ทั้งเพิ่งรวยและรวยอยู่แล้วในจีน มีจำนวนเท่าไร? นิตยสาร Forbes China เปิดเผยในรายงาน China Private Wealth Report ว่า ปี 2553 เศรษฐีจีนที่มีสินทรัพย์มากกว่า 10 ล้านหยวน มีจำนวนถึง 383,000 ราย ซึ่งเมื่อนำสินทรัพย์ของเศรษฐีเหล่านี้มารวมกันจะมีจำนวนถึงร้อยละ 22.4 ของมูลค่าสินทรัพย์ของทั้งประเทศ! ส่วนใหญ่เป็นคนที่เกิดในช่วงปีค.ศ. 1960-1979 และมีคนที่เกิดในช่วงปี 1980-1989 คิดเป็นร้อยละ 11.8 โดยเศรษฐีเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของธุรกิจด้านการผลิตและการค้า รองลงมาได้แก่ผู้ที่อยู่ในธุรกิจการเงิน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตามลำดับ ดังนั้นหากดูจากประเภทธุรกิจ จึงเดาได้ไม่ยากว่า เศรษฐีเหล่านี้ส่วนใหญ่ (เกือบ 80,000 ราย) อยู่ในมณฑลกวางตุ้ง รองลงมา (40,000 ราย) มาจากมณฑลเจ้อเจียง ส่วนที่เหลืออยู่ในมณฑลเจียงซู กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลฝูเจี้ยน


หน้าตาเศรษฐีจีน

ดูอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของจีน...มองหาโอกาสให้เฟอร์นิเจอร์ไทย
จีนเป็นประเทศผลิตและส่งออกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของโลก เมื่อปี 2549 มูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของจีนได้แซงหน้าอิตาลี กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก ปี 2553 จีนส่งออกเฟอร์นิเจอร์เป็นมูลค่า 33,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 30 ของมูลค่านำเข้า-ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของทั้งโลก โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 62 ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น
ปัจจุบันจีนมีธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์ราว 60,000 กว่าราย มีการจ้างงานในธุรกิจดังกล่าวกว่า 5 ล้านคน แหล่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดของจีนอยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง โดยมีมูลค่าถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าการผลิตของทั้งประเทศ และเฟอร์นิเจอร์ที่ส่งออกของจีนเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากกวางตุ้งเป็นมูลค่าถึงร้อยละ 35 แหล่งผลิตใหญ่อันดับ 2 ของจีนคือมณฑลเจ้อเจียง มีมูลค่าการผลิตประมาณร้อยละ 20 ของทั้งประเทศ และมีมูลค่าส่งออกคิดเป็นร้อยละ 17 ของทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีมณฑลอื่นๆ ที่สร้างฐานผลิตเฟอร์นิเจอร์เช่นกัน เช่นมณฑลเสฉวน แต่ยังนับว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับ 2 แหล่งนี้

ขณะที่หากเปรียบเทียบกับมูลค่านำเข้าแล้วถือว่ามีสัดส่วนที่ต่างกันมาก กล่าวคือ ปี 2553 จีนนำเข้าเฟอร์นิเจอร์เป็นมูลค่าเพียง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในนำจำนวนดังกล่าวยังนับรวมถึงเก้าอี้ที่ใช้ในทางการแพทย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย ดังนั้นส่วนที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่นำเข้าป้อนตลาดผู้บริโภคจริงจึงถือว่ามีจำนวนที่ไม่สูงมาก เนื่องจากตลาดผู้บริโภคในส่วนนี้ยังจำกัดอยู่ในกลุ่ม Niche Market เท่านั้น และต้นทุนแรงงานจากต่างประเทศที่ผ่านมาอยู่ในอัตราที่สูงกว่าจีน อีกทั้งยังมีต้นทุนด้านค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายในการขึ้นห้างสรรพสินค้าวางจำหน่ายด้วย

แม้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์จีนจะถูกนโยบายมหภาคบังคับให้ต้องปรับยกระดับอุตสาหกรรมและพัฒนาไปสู่คุณภาพที่สูงขึ้น แต่ในสภาพปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้ของจีนก็กำลังพบกับอุปสรรคหลายด้าน ทั้งด้านขาดแคลนแรงงานคุณภาพ และต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ธุรกิจส่วนใหญ่ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ต้นทุนสูง อีกทั้งยังเจอพิษเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ต้นทุนพลังงานล้วนเพิ่มขึ้น
ดังนั้น หากดูจากกรณีตัวอย่างของดาวินชี่ที่แสดงให้เห็นถึงรสนิยมความต้องการซื้อสินค้าต่างชาติ ผนวกกับองค์ประกอบเรื่องคนจีนขาดความเชื่อมั่นต่อสินค้าในประเทศตนเอง ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ยิ่งสร้างความรู้สึกในแง่ลบแก่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ในประเทศเพิ่มขึ้น ผนวกกับความไม่พร้อมของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จีนส่วนใหญ่ ทำให้สินค้าเฟอร์นิเจอร์และของใช้ตกแต่งบ้านของไทยน่าจะยังมีโอกาสที่ไม่น่ามองข้ามในตลาดนี้ โดยหากพิจารณาจากด้านขนาดตลาดประกอบด้วยแล้ว Niche Market ของจีนก็ยังมีขนาดที่น่าสนใจไม่น้อย
หนังสือพิมพ์ซินหัวของจีนรายงานว่า ในความคิดของผู้บริโภคจีนแล้ว สินค้านำเข้าย่อมดีกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ ไม่ว่าสินค้านั้นจะผลิตมาจากยุโรปหรือไทยหรือเวียดนามก็ตาม จึงเห็นได้ว่าสินค้าไทยในสายตาชาวจีนถือเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานและน่าเชื่อถือกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศตัวเอง


เฟอร์นิเจอร์เก๋ๆ ของไทยที่น่าจะโดนใจคนจีน

ข่าวฮือฮาของดาวินชี่นี้คงทำให้ผู้บริโภคจีนสนใจในเรื่องวัสดุและคุณภาพของสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ทัศนคติความนิยมของนอกคงจะไม่เปลี่ยนแปลงไป แต่นับวันจะมีมากขึ้น ขณะเดียวกันหากสินค้าไทยสามารถจับจุดผู้บริโภคระดับเศรษฐีเหล่านี้ได้ด้วยแล้ว ก็น่าจะมีโอกาสเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น เช่น การหันไปชูจุดเด่นเรื่องวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่พูดถึงมากทั่วโลก เพิ่มเติมจากดีไซด์และความทันสมัย ทำให้บรรดาเศรษฐีจีนทั้งหลายก็พยายามที่จะใช้สินค้าที่กำลังเป็นที่นิยมตามกระแสสังคมเช่นกัน นอกจากนี้ ยังอาจใช้จุดเด่นด้านวัสดุธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย และเทคนิคงาน hand made ที่ยากต่อการปลอมแปลงในการช่วยเพิ่มมูลค่า ซึ่งไม่เพียงแต่สินค้าเฟอร์นิเจอร์เท่านั้น สินค้าแฟชั่นอื่นๆ ของไทยก็สามารถจับจุดผู้บริโภคของจีนนี้มาใช้ในการสร้างกลยุทธ์รุกตลาดจีนได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันก็มีสินค้าแฟชั่นไทยบางยี่ห้อที่แม้จะยังไม่ได้เข้ามาในจีนก็เป็นที่รู้จักของสาวๆ จีนแล้ว จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสินค้าแฟชั่นแบรนด์ไทยจะเป็นที่ “เห่อ” ของผู้บริโภคจีนได้หลายๆ แบรนด์ในอนาคตอันไม่ไกลนี้.

ที่มา :  จับจุดเศรษฐีจีนเห่อของนำเข้า สร้างโอกาสให้สินค้าไทย
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=616&ID=8242

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น