คลังบทความของบล็อก

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เศรษฐีจีนเห่อของนำเข้า

จับจุดเศรษฐีจีนเห่อของนำเข้า สร้างโอกาสให้สินค้าไทย


เมื่อช่วงกลางเดือน ก.ค. 54 สื่อจีนได้รายงานข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากคนจีนทั้งประเทศ คือ เฟอร์นิเจอร์ยี่ห้อ “ดาวินชี่” (Davinci) ประเทศจีนถูกแฉเทคนิคกลลวง นำเฟอร์นิเจอร์ต้นทุนหลัก 1,000 หยวนที่ผลิตแถวๆ มณฑลกวางตุ้งมาแหกตาผู้บริโภคว่าเป็นสินค้านำเข้าจากอิตาลีที่ตั้งราคาขายต่อชุดถึงหลัก 10,000-100,000 หยวน ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนี้ สำหรับเจ้าของสินค้าและบริการของไทยแล้ว นับเป็นปรากฏการณ์สะท้อนทัศนคติ พฤติกรรม และสภาพความเป็นจริงของผู้บริโภคจีนที่น่า สนใจยิ่ง

กลลวงของ “ดาวินชี่”
สถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีนลงพื้นที่ล้วงลึกข้อเท็จจริงกรณีเฟอร์นิเจอร์ยี่ห้อดาวินชี่ พบว่า สินค้าของดาวินชี่แท้จริงแล้วไม่ใช่สินค้านำเข้าจากอิตาลี 100% ดั่งที่ได้โฆษณากับลูกค้าทั้งหมด วัตถุดิบที่ใช้ผลิตก็มิใช่ไม้ชนิดพิเศษจากอิตาลีอย่างที่อวดอ้าง แต่กลับเป็นแค่เรซิน ไม้อัดจีน และไม้อัดขี้เลื่อยเท่านั้น ซึ่งเรื่องก็แดงขึ้นในที่สุดเมื่อมีลูกค้าที่ซื้อเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงกว่าทองยี่ห้อนี้ได้ไปร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับมาตรฐานของสินค้า โดยในช่วงแรกๆ บริษัทยังคงยืนกรานเสียงแข็งว่าสินค้าตนเป็นสินค้าที่นำเข้าทั้งหมด ก่อนที่จะออกมายอมรับและขอโทษลูกค้าแล้วในหลายวันต่อมาหลังจากนั้น

จากการตรวจสอบของสำนักงานบริหารอุตสาหกรรมและพาณิชย์ (State Administration for Industry and Commerce) นครเซี่ยงไฮ้ พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 เฟอร์นิเจอร์นำเข้าประมาณร้อยละ 10 ของดาวินชี่ แท้จริงแล้วเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตในประเทศ โดยเทคนิคของดาวินชี่คือ นำเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตแถวเมืองตงก่วนส่งออกทางท่าเรือเมืองเซินเจิ้นไปยังประเทศสหรัฐฯ หรืออิตาลี จากนั้นก็นำเฟอร์นิเจอร์ชุดดังกล่าววนส่งกลับเข้ามาในจีนใหม่ผ่านทางท่าเรือเซี่ยงไฮ้ หรือบางครั้งก็ทำเป็นส่งสินค้าออกผ่านเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนไว่เกาเฉียว โดยที่ในความเป็นจริงสินค้ามิได้ออกจากอาณาเขตประเทศจีน เทคนิคเหล่านี้ทำให้สินค้าดังกล่าวของดาวินชี่ได้ชื่อว่าเป็นสินค้านำเข้า ราคาขายจึงเพิ่มจากที่ซื้อจากโรงงานผลิตในจีนเพียงไม่กี่ 1,000 หยวน เป็นหลัก 10,000 หรือ 100,000 หยวน ทีเดียว


ทางการจีนตรวจสอบคุณภาพสินค้าของดาวินชี่


นอกจากการเพิ่มราคาขายเป็นหลายเท่าตัวแล้ว วิธีการดังกล่าวยังทำให้สินค้าส่งออกจากจีนของดาวินชี่ได้รับประโยชน์จากการขอคืนภาษีส่งออกซึ่งแหล่งข่าวคาดว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 36 ล้านหยวน จากยอดขายทั้งหมด 4,000 ล้านหยวนในปี 2553 ด้วย ส่วนการกระทำดังกล่าวถือว่าผิดกฏหมายจีนหรือไม่นั้น นายจู ฉางหลิง ผู้อำนวยการสมาคมเฟอร์นิเจอร์จีน กล่าวว่า สินค้ายี่ห้อต่างประเทศสามารถผลิต ณ ประเทศใดก็ได้ แต่ต้องระบุสถานที่ผลิต ส่วนกรณีที่ผลิตในประเทศแล้วส่งออก จากนั้นนำเข้ามาใหม่ ไม่ถือว่าผิดกฏหมายเพราะมิได้ขัดต่อกฏหมายใดๆ พร้อมทั้งยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันไม่ใช่แค่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เท่านั้นที่กระทำเช่นนี้ ธุรกิจอื่นๆ ก็ใช้เทคนิคนี้เช่นกัน

เศรษฐีจีนเห่อของนอก “รู้เขาหลอก ก็เต็มใจให้หลอก”
ที่แปลกแต่จริงก็คือ ดาวินชี่หลอกผู้บริโภคด้วยเทคนิคนี้มาไม่ต่ำกว่า 6 ปีแล้ว เพราะเมื่อ 6 ปีก่อนดาวินชี่ก็เคยถูกหนังสือพิมพ์ BEIJING BUSINESS TODAY แฉวิธีการดังกล่าวแล้ว แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากสังคมเท่าไหร่ ทำให้ดาวินชี่ยังคงสามารถทำธุรกิจกำไรงามนี้ได้ต่อไปได้อย่างสบาย! นักวิชาการและผู้ที่อยู่ในวงการเฟอร์นิเจอร์ต่างออกมาวิพาษ์วิจารณ์และให้คำตอบต่อปรากฏการณ์สังคมอันน่าพิศวงนี้ว่า

- เพราะดาวินชี่ได้ใช้หลักจิตวิทยาในการสร้างสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง (ที่ไม่ใช่กลุ่มเล็กๆ ในจีนในปัจจุบัน) ที่ต้องการซื้อ “ของแพงที่สุด” ไม่ใช่ซื้อ “ของดีที่สุด”
- นอกจากนี้ ยังมีผู้บริโภคที่ร่ำรวยขึ้นมาในยุคนี้ซึ่งมีทัศนคติต่อการบริโภคว่า หากได้ใช้เงินซื้อของแพงๆ แล้ว จึงจะสบายใจและพึงพอใจ
- ในส่วนของสมาคมของแต่งบ้านแห่งชาติจีน สมทบว่า ดาวินชี่รู้ถึงจุดอ่อนของคนจีนกลุ่มใหม่ที่เมื่อเพิ่งร่ำรวย ก็ต้องการอวดรวยด้วยการซื้อของแพงและมีรสนิยมใช้ของนอกมาเป็นช่องทางทำธุรกิจ
- อีกทั้งยังมีประเด็นเกี่ยวกับความไม่เชื่อมั่นในคุณภาพของยี่ห้อสินค้าในประเทศของผู้บริโภคจีนด้วย


เฟอร์นิเจอร์สไตล์ตะวันตกที่ดาวินชี่อ้างว่านำเข้าจากอิตาลี

ค่านิยมเห่อของนำเข้าของคนจีนยังเข้มข้นถึงขนาดที่ทำให้กระทรวงพาณิชย์จีนออกแรงผลักดันให้คณะรัฐมนตรีจีนพิจารณาอนุมัติปรับลดภาษีสินค้านำเข้า เพื่อหวังกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้คึกคักยิ่งขึ้น แสดงถึงบทบาทของสินค้านำเข้าที่มีอิทธิพลในสังคมจีนไม่น้อย อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวของกระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่ารัฐจะเสียรายได้

ข้อมูลเศรษฐีในจีน
แล้วผู้บริโภคจีนที่ทั้งเพิ่งรวยและรวยอยู่แล้วในจีน มีจำนวนเท่าไร? นิตยสาร Forbes China เปิดเผยในรายงาน China Private Wealth Report ว่า ปี 2553 เศรษฐีจีนที่มีสินทรัพย์มากกว่า 10 ล้านหยวน มีจำนวนถึง 383,000 ราย ซึ่งเมื่อนำสินทรัพย์ของเศรษฐีเหล่านี้มารวมกันจะมีจำนวนถึงร้อยละ 22.4 ของมูลค่าสินทรัพย์ของทั้งประเทศ! ส่วนใหญ่เป็นคนที่เกิดในช่วงปีค.ศ. 1960-1979 และมีคนที่เกิดในช่วงปี 1980-1989 คิดเป็นร้อยละ 11.8 โดยเศรษฐีเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของธุรกิจด้านการผลิตและการค้า รองลงมาได้แก่ผู้ที่อยู่ในธุรกิจการเงิน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตามลำดับ ดังนั้นหากดูจากประเภทธุรกิจ จึงเดาได้ไม่ยากว่า เศรษฐีเหล่านี้ส่วนใหญ่ (เกือบ 80,000 ราย) อยู่ในมณฑลกวางตุ้ง รองลงมา (40,000 ราย) มาจากมณฑลเจ้อเจียง ส่วนที่เหลืออยู่ในมณฑลเจียงซู กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลฝูเจี้ยน


หน้าตาเศรษฐีจีน

ดูอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของจีน...มองหาโอกาสให้เฟอร์นิเจอร์ไทย
จีนเป็นประเทศผลิตและส่งออกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของโลก เมื่อปี 2549 มูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของจีนได้แซงหน้าอิตาลี กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก ปี 2553 จีนส่งออกเฟอร์นิเจอร์เป็นมูลค่า 33,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 30 ของมูลค่านำเข้า-ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของทั้งโลก โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 62 ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น
ปัจจุบันจีนมีธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์ราว 60,000 กว่าราย มีการจ้างงานในธุรกิจดังกล่าวกว่า 5 ล้านคน แหล่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดของจีนอยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง โดยมีมูลค่าถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าการผลิตของทั้งประเทศ และเฟอร์นิเจอร์ที่ส่งออกของจีนเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากกวางตุ้งเป็นมูลค่าถึงร้อยละ 35 แหล่งผลิตใหญ่อันดับ 2 ของจีนคือมณฑลเจ้อเจียง มีมูลค่าการผลิตประมาณร้อยละ 20 ของทั้งประเทศ และมีมูลค่าส่งออกคิดเป็นร้อยละ 17 ของทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีมณฑลอื่นๆ ที่สร้างฐานผลิตเฟอร์นิเจอร์เช่นกัน เช่นมณฑลเสฉวน แต่ยังนับว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับ 2 แหล่งนี้

ขณะที่หากเปรียบเทียบกับมูลค่านำเข้าแล้วถือว่ามีสัดส่วนที่ต่างกันมาก กล่าวคือ ปี 2553 จีนนำเข้าเฟอร์นิเจอร์เป็นมูลค่าเพียง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในนำจำนวนดังกล่าวยังนับรวมถึงเก้าอี้ที่ใช้ในทางการแพทย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย ดังนั้นส่วนที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่นำเข้าป้อนตลาดผู้บริโภคจริงจึงถือว่ามีจำนวนที่ไม่สูงมาก เนื่องจากตลาดผู้บริโภคในส่วนนี้ยังจำกัดอยู่ในกลุ่ม Niche Market เท่านั้น และต้นทุนแรงงานจากต่างประเทศที่ผ่านมาอยู่ในอัตราที่สูงกว่าจีน อีกทั้งยังมีต้นทุนด้านค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายในการขึ้นห้างสรรพสินค้าวางจำหน่ายด้วย

แม้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์จีนจะถูกนโยบายมหภาคบังคับให้ต้องปรับยกระดับอุตสาหกรรมและพัฒนาไปสู่คุณภาพที่สูงขึ้น แต่ในสภาพปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้ของจีนก็กำลังพบกับอุปสรรคหลายด้าน ทั้งด้านขาดแคลนแรงงานคุณภาพ และต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ธุรกิจส่วนใหญ่ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ต้นทุนสูง อีกทั้งยังเจอพิษเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ต้นทุนพลังงานล้วนเพิ่มขึ้น
ดังนั้น หากดูจากกรณีตัวอย่างของดาวินชี่ที่แสดงให้เห็นถึงรสนิยมความต้องการซื้อสินค้าต่างชาติ ผนวกกับองค์ประกอบเรื่องคนจีนขาดความเชื่อมั่นต่อสินค้าในประเทศตนเอง ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ยิ่งสร้างความรู้สึกในแง่ลบแก่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ในประเทศเพิ่มขึ้น ผนวกกับความไม่พร้อมของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จีนส่วนใหญ่ ทำให้สินค้าเฟอร์นิเจอร์และของใช้ตกแต่งบ้านของไทยน่าจะยังมีโอกาสที่ไม่น่ามองข้ามในตลาดนี้ โดยหากพิจารณาจากด้านขนาดตลาดประกอบด้วยแล้ว Niche Market ของจีนก็ยังมีขนาดที่น่าสนใจไม่น้อย
หนังสือพิมพ์ซินหัวของจีนรายงานว่า ในความคิดของผู้บริโภคจีนแล้ว สินค้านำเข้าย่อมดีกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ ไม่ว่าสินค้านั้นจะผลิตมาจากยุโรปหรือไทยหรือเวียดนามก็ตาม จึงเห็นได้ว่าสินค้าไทยในสายตาชาวจีนถือเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานและน่าเชื่อถือกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศตัวเอง


เฟอร์นิเจอร์เก๋ๆ ของไทยที่น่าจะโดนใจคนจีน

ข่าวฮือฮาของดาวินชี่นี้คงทำให้ผู้บริโภคจีนสนใจในเรื่องวัสดุและคุณภาพของสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ทัศนคติความนิยมของนอกคงจะไม่เปลี่ยนแปลงไป แต่นับวันจะมีมากขึ้น ขณะเดียวกันหากสินค้าไทยสามารถจับจุดผู้บริโภคระดับเศรษฐีเหล่านี้ได้ด้วยแล้ว ก็น่าจะมีโอกาสเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น เช่น การหันไปชูจุดเด่นเรื่องวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่พูดถึงมากทั่วโลก เพิ่มเติมจากดีไซด์และความทันสมัย ทำให้บรรดาเศรษฐีจีนทั้งหลายก็พยายามที่จะใช้สินค้าที่กำลังเป็นที่นิยมตามกระแสสังคมเช่นกัน นอกจากนี้ ยังอาจใช้จุดเด่นด้านวัสดุธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย และเทคนิคงาน hand made ที่ยากต่อการปลอมแปลงในการช่วยเพิ่มมูลค่า ซึ่งไม่เพียงแต่สินค้าเฟอร์นิเจอร์เท่านั้น สินค้าแฟชั่นอื่นๆ ของไทยก็สามารถจับจุดผู้บริโภคของจีนนี้มาใช้ในการสร้างกลยุทธ์รุกตลาดจีนได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันก็มีสินค้าแฟชั่นไทยบางยี่ห้อที่แม้จะยังไม่ได้เข้ามาในจีนก็เป็นที่รู้จักของสาวๆ จีนแล้ว จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสินค้าแฟชั่นแบรนด์ไทยจะเป็นที่ “เห่อ” ของผู้บริโภคจีนได้หลายๆ แบรนด์ในอนาคตอันไม่ไกลนี้.

ที่มา :  จับจุดเศรษฐีจีนเห่อของนำเข้า สร้างโอกาสให้สินค้าไทย
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=616&ID=8242

เทคนิคการขายสินค้าในจีน

เทคนิคการขายสินค้าในจีน ที่ SMEs ไทยมือใหม่ควรรู้

คุณคิดว่า “กระเทียมเจียวทอดกรอบ” จะขายในจีนได้หรือไม่ หลายคนคิดคล้ายกันคือ จะขายได้หรอ??? บางคนก็ว่า ขายไม่ได้หรอกพี่ จะขนมาขายทำไม คนจีนเขาไม่กินกัน กินแต่กระเทียมในน้ำมัน กระเทียมทอดกรอบโรยหน้าบนอาหารแทบไม่เคยเห็น แต่เจ้าของ OTOP รายหนึ่งบอกกับ BIC ในงานเทศกาลไทย ณ นครคุนหมิง ว่า “เอามาลองดู ขายได้ไม่ได้ไม่เป็นไร” ผ่านไปสองวัน เรากลับไปดูอีกครั้ง ยังคงเห็นกระเทียมเจียวทอดกรอบบรรจุขวดวางอยู่ด้วยปริมาณเท่าเดิม “ยังขายไม่ได้สักกระป๋อง” เจ้าของพูดอย่างขำ ๆ เราเองก็สงสัย บรรจุภัณฑ์สีสันสวยงาม สะอาดตา ฝาปิดมิดชิด แถมมีพลาสติกใสหุ้มอีกรอบ เรื่องรูปลักษณ์ภายนอกไม่ต้องพูดถึง มันดูดีมากเมื่อเทียบกับชนิดแพคถุงที่ขายตามตลาดทั่วไป ตัวกระเทียมเจียวภายในกระป๋อง ถูกฝานเป็นชิ้นด้วยขนาดที่ใกล้เคียงกัน ไม่มีเศษชิ้นเล็ก ๆ หรือน้ำมันเยิ้มให้เห็น “ทำไมขายไม่ได้ หน้าตาผลิตภัณฑ์ก็ดูดี หรือว่าคนจีนไม่กินกระเทียมเจียวทอดกรอบ” พวกเราจับกลุ่มนั่งวิจารณ์กันภายในบูธ

ลูกค้าจีนคนหนึ่ง เดินมาที่บูธ จับกระป๋องกระเทียมเจียว แล้วถามว่า “นี่คืออะไร” “ชิมได้ไหม” ชิมเสร็จ ซื้อไปหนึ่งกระป๋อง พร้อมเสียงเชียร์ของคนไทย “เย้ ตีไข่แตก” วันรุ่งขึ้น เรากลับไปถามใหม่ เจ้าของตอบว่า “ขายหมดแล้ว มีลูกค้ามาลองชิม และเหมายกลังไปหมดเลย… !!!” ถือว่าเจ้าของร้านมีไหวพริบ รู้จักสังเกต เปิดให้ลูกค้าลองชิม จึงได้ขนเงินกลับบ้าน แทนการขนของ

เทคนิคการขายสินค้าในจีน ช่วงระยะทดลองตลาด

จากการที่กลุ่ม OTOP นำสินค้าบุกตลาดคุนหมิงในงานเทศกาลไทยถึง 2 ครั้ง ทำให้เราเห็นว่า นอกจากตัวสินค้าที่มีคุณภาพ และบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้สินค้าเหล่านั้นขายได้ในประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นสินค้าใหม่ และอยากทดลองตลาดจีน จำเป็นต้องผนึกกำลังภายใน และงัดทุกกลยุทธ์มาใช้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ตัวสินค้าเข้าถึงผู้บริโภคได้เร็วที่สุด

- การให้ข้อมูลสินค้าที่เป็นภาษาจีนและให้ทดลอง เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ควรให้รายละเอียดทั้งตัวสินค้า และตัวผู้ผลิต ตัวผลิตภัณฑ์ควรติดป้ายชื่อและมีคำอธิบายให้ชัดเจน สินค้าประเภทอาหาร สำคัญที่สุดคือ การให้ชิม รสชาติถูกปากถูกใจ ผู้ใหญ่ไม่ชิม เด็กชิม เด็กก็ร้องให้ผู้ใหญ่ซื้อ สินค้าบำรุงสุขภาพ พืชสมุนไพร และออร์กานิกปลอดสารพิษ เป็นสินค้าดาวรุ่งมาแรง หรือสินค้าประเภทช่วยบำบัดและผ่อนคลายความเครียด เช่น เครื่องหอม หมอนป้องกันไรและฝุ่นที่รองรับน้ำหนักคอได้ดี สินค้าประเภทนี้ก็กำลังได้รับความนิยม เพียงแต่ต้องเขียนบรรยายสรรพคุณสินค้าหรือสมุนไพรไทยให้คนจีนได้รู้จักมากขึ้น

ปัจจุบัน คนจีนรักสุขภาพมากขึ้น ใส่ใจและห่วงชีวิตของลูกหลาน เพราะมีลูกคนเดียว ต้องเลือกสิ่งที่ดีสุด สินค้าประเภทเสื้อผ้าหรือกระเป๋า ควรมีหุ่นใส่เสื้อผ้าโชว์สินค้า ลูกค้าจะชอบมากกว่าแขวนหรือพับวางโชว์ไว้ และควรมีกระจกให้ลูกค้าส่อง สินค้าสปาที่มีความหอมก็ควรมีตัวทดลองเปิดให้ลูกค้าดม น้ำมันนวดต่าง ๆ ก็ทดลองนวดให้ลูกค้า อาจจะมองว่าเสียเวลา แต่ยิ่งคิวแน่น ยิ่งขายดี อัญมณีและเครื่องประดับ ควรมีตู้กระจกใส่สินค้า (ป้องกันการขโมยไปด้วยในตัว) ที่สำคัญต้องมีไฟส่อง เพื่อให้เกิดความแวววาวเตะตาลูกค้า รวมถึงมีใบประกันคุณภาพพร้อมสรรพ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ

- สำหรับผู้ผลิต นามบัตรและโบรชัวร์สินค้าเป็นสิ่งสำคัญมาก บ่อยครั้งที่ผู้ประกอบการไม่นิยมพกพา และหลายครั้งเช่นกันที่ทำให้พลาดโอกาสทางธุรกิจ นามบัตรหรือโบรชัวร์เปรียบเสมือนการเชื้อเชิญให้เริ่มต้นและมีเนื้อหาในการสนทนาต่อกัน และเปรียบประดุจบัตรเชิญลูกค้าให้เดินทางมาหาผู้ประกอบการหลังหมดช่วงทดลองตลาด นามบัตรจึงควรให้ข้อมูลผู้ผลิต สถานที่ผลิต เบอร์โทรติดต่อทั้งที่ไทยและที่จีน อีเมล์และเว็บไซต์ เป็นต้น ส่วนโบรชัวร์ก็เพิ่มรายละเอียดสินค้า เรื่องราวของสินค้าที่เด่น ๆ และน่าสนใจ

สินค้าที่ขายดีทุกปี นอกจากผลไม้และอาหารไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนจีนทั่วไปแล้ว สินค้าแปลกใหม่ ประเภทที่จีนไม่มีหรือไม่ได้ผลิต เช่น ดินหรือแป้งปั้นจิ๋วแบบไทย ๆ เสื้อผ้าเด็กที่ตัดจากผ้าขาวม้า และกรอบรูปใบไม้สีทอง ก็ล้วนมียอดจำหน่ายที่ดีอย่างคาดไม่ถึง สินค้าที่บอกเล่าเรื่องราว (story) หรือมีที่มาที่ไป เช่น ทำกันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ จำหน่ายมานานกว่า 30 ปี มีภาพดาราไทยถ่ายคู่กับเจ้าของประมาณว่าเคยซื้อหรือเคยใช้ เรื่องราวเหล่านี้ก็ทำให้ลูกค้าชื่นชอบเช่นกัน เพราะปัจจุบัน คนจีนรู้จักดาราไทยผ่านละครไทยบนอินเตอร์เน็ตไม่น้อยเลยทีเดียว

รู้พฤติกรรมผู้บริโภค ประยุกต์ใช้เทคนิคการขายได้ง่ายขึ้น

มีผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “หนึ่งมณฑลของจีน เทียบเท่าหนึ่งประเทศ” หากอยากจะขายสินค้าที่จีนในมณฑลไหน จำเป็นต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของมณฑลนั้นเสียก่อน วันนี้ BIC มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของพฤติกรรมผู้บริโภคชาวคุนหมิง จากการสังเกตการณ์ผ่านงานเทศกาลไทยมาเล่าสู่กันฟัง

- คนคุนหมิงชอบของทำสด หรือทำให้เห็น ผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องปรุงรสต้มยำกุ้ง กะทิกล่องสำเร็จรูป น้ำปลา และผัดไทเส้นจันท์ สินค้าประเภทนี้ต้องสาธิตการทำให้ดูและสอนวิธีใช้ให้เห็นกับตา เช่น เอาเครื่องต้มยำกุ้งมาทำต้มยำให้หอมฟุ้งไปทั้งงาน ส่วนเส้นจันท์พร้อมน้ำปรุงรสผัดไทย หากวางขายแบบธรรมดา ๆ แม้จะให้ข้อมูลและรายละเอียดมากมายเป็นภาษาจีน ก็คงขายไม่ออก ได้แต่นั่งมองดูบูธอื่นที่ขายดีกว่า เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ก็คงคิดว่าเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวของจีนด้วยซ้ำไป แต่พอฉีกห่อ ผัดใส่กล่องขาย เติมเต้าหู้ เพิ่มไข่ ใส่ผัก ขายดีจนผัดกันแทบไม่ทัน โดยเฉพาะตอนมื้อกลางวันและเย็น ต้องแนะนำให้ทำบัตรคิวกันเลยทีเดียว กลายเป็นอาหารที่เส้นแบบจีนแต่รสชาติสไตล์ไทย ลูกค้ากลับให้ความสนใจ แถมยังขายได้ทั้งชนิดผัดแล้วและยังไม่ได้ผัด

- พฤติกรรมชอบมุง ยิ่งมุงยิ่งขายดี การมุงเกิดจากความอยากรู้อยากเห็น อยากรู้ว่ามุงดูอะไร ซื้อตาม ๆ กันบ้าง จะได้ไม่ล้าสมัย เวลาออกบูธ หากมีพนักงานขายจำนวนมาก ลองให้มายื่นหน้าร้าน มอง ๆ จับ ๆ สินค้า เสมือนเป็นลูกค้า อาจจะพบกับพฤติกรรมคล้าย “ไทยมุง” สินค้าจะขายดีขึ้นมาทันที

- กล้าซื้อ-กล้าลองมากขึ้นอย่างที่รู้ ๆ กัน มณฑลทางภาคตะวันตกของจีนมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชากรมีกำลังซื้อสูงขึ้น ขอแค่ถูกอกถูกใจ สินค้าคุณภาพดี คนคุนหมิงที่มีฐานะก็พร้อมที่จะจับจ่าย รวมไปถึงการเข้าสู่ยุคเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและโลกออนไลน์ ทำให้เปิดรับเอาข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ชาวจีนมีความคิดที่เปิดรับ กล้าลองสินค้าใหม่ ๆ

- ชาวคุนหมิงคุ้นเคยกับคนจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเปิดใจรับวัฒนธรรมและอาหารการกินของคนในประเทศเหล่านั้นมากขึ้น กระแสไทยก็มาแรง ทั้งจากภาพยนตร์ ละคร และการเดินทางไปเที่ยวด้วยตัวเองรวมถึงนักศึกษาไทยที่เดินทางไปเรียนในคุนหมิงก็มีจำนวนไม่น้อย ขณะเดียวกัน คนจีนที่เรียนภาษาไทยก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี

 “อาหารไทยตอไม้เท้าไก่” แบบเรียนที่ผู้ประกอบการไทยควรรู้

จากการสำรวจซอยเหวินฮั่วเซี่ยง (文化巷) และถนนหยวนซีลู่ (园西路) ในตัวเมืองนครคุนหมิง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นักศึกษาและคนทำงานนิยมไปเดินเล่น ซื้อของ และทานอาหาร โดยเฉพาะในช่วงค่ำคนจะเยอะเป็นพิเศษ BIC พบว่า ไม่กี่เดือนมานี้ สองข้างทางของถนนมีร้านอาหารที่ขายของเลียนแบบไทยและขึ้นป้ายภาษาไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านที่มีชื่อว่า “ขนมหวานไทย” ที่ขายขนมหวานหน้าตาคล้าย ๆ รวมมิตรบ้านเรา แต่ถูกดัดแปลง โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น และร้านอาหาร “สุขอร่อย” ที่เป็นอาหารจานด่วนดัดแปลงกึ่งไทยกึ่งจีน แต่ที่เด็ดสุด ๆ เห็นจะเป็นร้าน “อาหารไทยตอไม้เท้าไก่” ซึ่งจำหน่าย “ยำเล็บมือนาง” ของไทย ซึ่งเป็นอาหารที่ผสมผสานระหว่างส้มตำของไทยกับตีนไก่ อาหารโปรดของชาวจีน ออกมาเป็นยำตีนไก่ที่ถูกใจสาวจีน เพราะนอกจากรสชาติจะเปรี้ยว ๆ เผ็ด ๆ แซ่บถูกปาก ยังเชื่อว่ามีคอลลาเจนสูง บำรุงผิวพรรณอีกด้วย สาว ๆ กินไป พูดคุยกันไป กินเป็นมื้อเย็นถูกใจไม่อ้วน อาหารชนิดนี้จึงมีขายตามสองข้างทางถนนของซอยเหวินฮั่วเซี่ยงและหยวนซีลู่จำนวนมาก แต่เราคงไม่ได้สนใจมอง หากคนขายชาวจีนจะไม่ใช่ “ครก” แบบไทยมาตำตีนไก่ ทำให้ถึงบางอ้อ ที่แท้ตอไม้ หมายถึง “สาก” นั่นเอง

กระแสส้มตำตีนไก่ และป้ายชื่อภาษาไทย ล้วนชี้ให้เห็นว่า “ของไทย ขายได้” กระแสไทยมาแรง คนจีนเชื่อมั่นในสินค้าไทย เลยนำมาประยุกต์ ดัดแปลง ลอกเลียนแบบ เพื่อให้...ขายได้

หากผู้ประกอบการ SMEs และนักธุรกิจไทยคิดจะบุกตลาดคุนหมิงก็ไม่ใช่เรื่องยาก นอกเหนือจากกฎหมายและภาษาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้แล้ว การมีเทคนิคการขายที่ถูกใจผู้บริโภคจีน และการผสมผสานสินค้าของไทยให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของจีน ก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ เฉกเช่นแบบเรียน “อาหารไทยตอไม้เท้าไก่” นั่นเอง ช

ที่มา : เทคนิคการขายสินค้าในจีน ที่ SMEs ไทยมือใหม่ควรรู้
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=650&ID=14530

ธุรกิจออนไลน์จีน ตอน 3

ธุรกิจออนไลน์ ตอน 3 : ชี้ช่องเจาะตลาดออนไลน์จีน ขายตรงสู่ผู้บริโภคชาวจีนแบบง่ายๆ


โอกาสร้อง เฮ! มาถึงแล้ว คุณรู้หรือไม่ว่า ไม่จำเป็นต้องมาตั้งบริษัทให้วุ่นวายในเมืองจีน ก็สามารถขายตรงส่งของจากไทยได้ วันนี้ BIC Shanghai มีข้อมูลดีๆ สำหรับผู้ประกอบการน้อยใหญ่ที่จะขายตรงมายังตลาดจีนโดยไม่ต้องผ่านนายหน้าให้กระทบต้นทุนโดยไม่จำเป็น แถมสามารถขายสินค้าแบบ “Low Cost High Profit” กันไปเลย ว้าว!


1. ตลาดออนไลน์ที่โดดเด่นในจีนมีอะไรบ้าง

1.1 ตลาดออนไลน์ที่นำทัพโดยบริษัท Alibaba
(1) Taobao.com เป็นตลาดออนไลน์สินค้าระหว่างบุคคล (Customer-to-Customer : C2C) ผู้ขายไม่ต้องเปิดเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลก็ขายได้ จะเป็นคนจีนหรือคนต่างชาติ ก็มีสิทธิ์เปิดร้านค้าอย่างเสรี (อ่านรายละเอียดการเปิดร้าน) แถมยังเชื่อมโยงฐานสินค้ากับตลาด Tmall.com อีกด้วย
(2) TMALL.com เป็นตลาดสินค้าระหว่างตัวแทนขายของบริษัท(Distributor) และบุคคล ซึ่งจะอนุญาตให้บริษัทที่มีใบอนุญาตจากผู้ผลิตขายสินค้าบนตลาด TMALL ส่งผลให้ผู้ซื้อเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น เนื่องจากสามารถติดตามบริการหลังการขายจากบริษัทได้ดีกว่า การซื้อสินค้าจากบุคคลผ่าน Taobao อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อสินค้าหากค้นหาสินค้าจาก Taobao  ก็จะค้นพบสินค้าบนตลาด TMALL ได้เช่นกัน

1.2 ตลาดออนไลน์คู่แข่งสำคัญของ Alibaba
(1) Jing Dong เป็นตลาดสินค้าออนไลน์ ซึ่งขายสินค้าไม่ต่างจาก TMALL เลย จะเรียกว่าเป็นคู่แข่งหลักเลยก็ว่าได้ ต่างกันที่ Jing Dong เป็นผู้ผลิตมาขายสินค้าโดยตรงกับลูกค้า (B2C) บางทีราคาสินค้าบางประเภทอาจจะสู้ TMALL ไม่ได้เพราะ ทางผู้ผลิตไม่ได้ทำการตลาดสินค้าโดยตรง และไม่มีนโยบายไปทำตลาดแข่งกับ Distributor ของตัวเอง
(2) Su Ning Yi Gou เป็นตลาดสินค้าระหว่างบริษัทและบุคคล (B2C) เหมือนกับ Jing Dong โดยมีห้างสรรพสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า Su Ning เป็นผู้ก่อตั้งตลาดออนไลน์นี้

1.3 ตลาดออนไลน์เฉพาะทาง
(1) Ding Dang เป็นตลาดสินค้าออนไลน์ที่เน้นเฉพาะตำราเรียน หนังสือทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นในหรือต่างประเทศ ราคามักถูกกว่าร้านหนังสือเสียอีก จนทำให้ร้านหนังสือในจีนหลายรายระส่ำระส่ายไปตามๆ กัน
(2) Yi Guo เป็นตลาดอาหารสดสินค้าทั้งในและต่างชาติ ให้บริการขนส่งทั่วประเทศจีน แต่ด้วยการเป็นสินค้าอาหารสด อาหารบางชนิดจะจำกัดสถานที่จัดส่งในพื้นที่ที่อยู่ในเขต เพื่อให้ได้สินค้าสดใหม่และได้รับสินค้าภายใน 2 วัน

1.4 ตลาดออนไลน์ต่างประเทศที่รุกตลาดจีน
(1) Amazon เป็นตลาดสินค้าต่างประเทศ ที่นักช็อปออนไลน์จีนสามารถเข้าไปซื้อได้ง่ายขึ้น เพราะเข้าถึงแหล่งสินค้าได้จากทั่วโลก ปัจจุบัน Amazon มีคลังสินค้าที่เขตทดลองการค้าเสรีนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Pilot Free Trade Zone) เมื่อมีการซื้อสินค้า ทาง Amazon ก็สามารถส่งของให้ผู้รับได้เลยไม่ต้องรอนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการขนส่งสินค้ามากขึ้น


2. ช่องทางการขายสินค้าไทย ถึงมือผู้รับจีนโดยตรง

ปัจจุบันสินค้าต่างประเทศมากมายเข้ามาตีตลาดจีนโดยผ่านช่องทางต่างๆ แต่วันนี้ BIC จะแนะนำช่องทางการขายสินค้าไทย เพื่อเข้าตีตลาดจีนแบบง่ายที่สุด! ทางเราขอแนะนำให้ทำการเปิดร้านค้าออนไลน์ของตัวเองบนเว็บไซด์ TMALL Global  ซึ่งเป็นตลาดที่ TMALL เปิดเป็นเวทีให้ ผู้ประกอบการต่างประเทศสามารถส่งสินค้าข้ามประเทศ ถึงมือลูกค้าในจีนได้โดยตรง อีกทั้งในระหว่างที่ลูกค้าค้นหาสินค้าในเว็บ Taobao ลูกค้าก็สามารถเห็นสินค้าของเราในตลาด TMALL Global ได้อีกด้วย ดังนั้นโอกาสที่ลูกค้าจีนจะเห็นสินค้าของเราย่อมมีมากขึ้น ต่อไปนี้จะขอแนะนำวิธีการจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์บนเว็บ TMALL Global กัน!
 
(ตัวอย่างสินค้าจากผู้ประกอบการต่างประเทศที่ขายใน TMALL International)

2.1 ถ้าอยากขายใน TMALL Globalบ้าง ต้องทำอย่างไร?
(1) คุณสมบัติพื้นฐาน



ผู้ประกอบการต่างประเทศต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้
* เป็นบริษัทจัดตั้งนอกประเทศจีน
* มีใบอนุญาตประกอบการค้าหรือใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดจำหน่าย จากผู้ผลิต
* เป็นบริษัทที่มีร้านในประเทศของตนเองและไม่เคยมีร้านอย่างเป็นทางการในจีนมาก่อน
* ต้องมี Customer Service ที่รู้ภาษาจีน เพื่อช่วยเหลือลูกค้า ในช่วงเวลาเปิดทำการ
* สามารถรับคืนสินค้าในจีนได้ หากลูกค้าประสงค์คืนสินค้า
* สามารถส่งสินค้าตรงจากต่างประเทศถึงลูกค้าในจีน


 (2) ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง


* ค่าประกันแรกเข้า 25,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งจ่ายเพียงครั้งเดียว
* ค่าธรรมเนียมรายปี 5,000 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการ
* ค่าคอมมิสชั่น 0.5-5% (ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า) พร้อมกับค่าธรมเนียมในการโอนเงินผ่าน Alipay 1%

(3) ขั้นตอนการลงทะเบียน


1. ทำการดาวน์โหลดแบบฟอร์ม (คลิก) กรอกแบบฟอร์ม แล้วส่งแบบฟอร์มทางเมลล์ไปที่ tmallglobal@service.alibaba.com
2. รอการอนุมัติ ปกติไม่เกิน 10 วันทำการ
3. ทำการลงทะเบียน Alipay แบบบัญชีธุรกิจต่างประเทศ (คลิก) ใช้ระยะเวลาราว 10 วันทำการ
4. เซ็นสัญญา แล้วเสร็จใช้เวลาราว 10 วันทำการ
รวมระยะเวลาทุกกระบวนการแล้วไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ท่านสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่
 
การเปิดสินค้าบนตลาดออนไลน์ต้องใช้ความสามารถในการบริหารร้านค้าอย่างยอดเยี่ยม และต้องมีความอดทนต่อลูกค้าสูง ตลาดสินค้าไทยยังมีพื้นที่อีกมากในจีน อย่าปล่อยให้ตลาดต่างชาติรุกคืบตลาดจีนอย่างเดียว!

บทความต่อไปจะขอแนะนำวิธีการจำหน่ายครีมบำรุงผิวบนตลาดออนไลน์มาให้ติดตามกัน!



ที่มา : ธุรกิจออนไลน์ (3) : ชี้ช่องเจาะตลาดออนไลน์จีน ขายตรงสู่ผู้บริโภคชาวจีนแบบง่ายๆ
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=650&ID=15854

ธุรกิจออนไลน์จีน ตอน 2  

ธุรกิจออนไลน์ ตอน 2  : ชี้ช่องเจาะตลาดออนไลน์จีน 
กลยุทธ์บุกตลาดออนไลน์จีน

หลังจากที่เราทราบวิธีการจัดการกระบวนการนำเข้าแล้ว ทีนี้เรามารู้จักกลยุทธ์บุกตลาดจีนกันดีกว่า สินค้ามากมายในตลาดออนไลน์จีน บ้างก็ดังเป็นพลุแตก บ้างก็ดับไปในความมืด เป็นเพราะอะไร? ส่วนมากแล้วในตลาดออนไลน์จีนมีสิ่งที่สำคัญที่ต้องระมัดระวัง ในกลยุทธ์จำหน่ายสินค้า โดยมีปัจจัยดังต่อไปนี้



1) คำค้นหา ต้องตรง ปัจจุบันเวลาชาวจีนจะซื้อสินค้าใดสินค้าหนึ่ง มักจะเลือกคำค้นหาที่ง่ายและกระชับ หรือบางทีหากเขาไม่รู้ชื่อสินค้านั้นๆ เขามักจะใช้คำกว้างๆ ที่อยู่ในหมวดหมู่ของสินค้านั้นๆ ยกตัวอย่าง เช่น หากลูกค้าต้องการซื้อครีมบำรุงจากไทย แต่ลูกค้ายังไม่ได้กำหนดในใจว่า เป็นยี่ห้ออะไร ลูกค้าจะใช้ค้นหาง่ายๆ อย่างเช่น “ครีม นำเข้า ประเทศไทย” “ครีมหอยทาก” หรือ “ครีมหน้าขาว” เป็นต้น ซึ่งคำค้นหาเหล่านี้ เราจำเป็นต้องระบุลงไปในชื่อสินค้าของเราเช่นกัน เพราะอะไร? เพราะถ้าเราไม่ระบุ เขาอาจจะหาสินค้าไม่เจอ บางทีการค้นหาอย่างเช่น “นำเข้า ประเทศไทย” มีมากกว่า 100 หน้า และใน 1 หน้ามีสินค้ากว่า 40 รายการจากแต่ละผู้ขาย ซึ่งคงไม่มีใครอยากจะไล่เรียงค้นหาสินค้าจนถึงเจอสินค้าเราหรอก จริงไหม?!

2) ลงโฆษณาให้ สินค้าเด้งมาอยู่แนวหน้า ปัจจุบันลูกค้าส่วนมากจะหาสินค้าโดย ยึดจากปัจจัยไม่กี่อย่าง เช่น ภาพรวม ความสนใจของผู้ซื้อส่วนใหญ่ ยอดจำหน่าย ความน่าเชื่อถือ ราคา รวมไปถึง แหล่งจัดส่งในพื้นที่ผู้ซื้อ ฟรีค่าจัดส่ง เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้สินค้าที่เราอยู่อันดับต้นๆ นอกจากจะลงโฆษณากับตลาดออนไลน์นั้นๆ ทาง BIC มีบทสัมภาษณ์กับผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรงจากผู้ประสบความสำเร็จจากการลงโฆษณาขายสินค้าจาก Taobao มาให้ท่านได้ลองอ่านกัน คลิกที่นี่

3) การบริการหลังการขายเป็นเลิศ ระมัดระวังลูกค้าบ่น ลูกค้านักช็อปออนไลน์ชาวจีน นอกจากดูปัจจัยหลากหลายแล้วยังชอบที่จะดู บทวิจารณ์ในร้านต่างๆ จากลูกค้าคนอื่นอีกด้วย นั่นเพราะว่า เกรงว่าตัวเองจะเลือกซื้อสินค้าแล้วได้สินค้าที่ไม่ดี โดยปัจจัยในการให้ข้อคิดเห็นจะประกอบด้วย

3.1) สินค้าตรงกับที่บรรยายสรรพคุณไว้หรือไม่ อย่าโม้เกินสรรพคุณ อย่าตัดต่อภาพถ่ายเกินจริง เพราะมันจะกระทบกับภาพรวมของความพึงพอใจลูกค้า

3.2) บริการของฝ่ายช่วยเหลือลูกค้า การมีฝ่ายช่วยเหลือลูกค้าในเวลางาน จะช่วยให้ลูกค้าซื้อสินค้าง่ายขึ้น เพราะพวกเขามักจะถามจุกจิกในตัวสินค้า ยอมเขาหน่อย เขาจะซื้อและเป็นลูกค้าประจำในที่สุด นอกจากนี้ยังช่วยให้ลูกค้าพอใจ หากเกิดความไม่สบายใจ หรือปัญหาหลังการขาย

3.3) ความเร็วในการจัดส่งสินค้า หมายถึง เราควรส่งสินค้าในระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้ หากจะส่งสินค้าล่าช้า ก็ควรแจ้งให้ลูกค้าทราบเสียก่อน


(ร้านค้าใน Taobao กำลังจัดการนำสินค้าใส่กล่องเพื่อจัดส่งไปยังลูกค้า)

3.4) ความเร็วในการขนส่งสินค้า หมายถึง บริษัทในการจัดส่งสินค้า ทำงานได้รวดเร็วเพียงไร หากเกิดปัญหาควรให้บริษัทจัดส่งสินค้ารีบแจ้งมายังผู้ขาย เพื่อชี้แจงให้กับลูกค้าทราบต่อไป

4) ราคาสินค้าไม่แพงและไม่ถูกจนเกินไป สินค้าที่วางขายในตลาดออนไลน์ ราคาเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก เพราะชาวจีนจำนวนไม่น้อยเลย คิดเสมอว่า “ของดีไม่มีถูก ของถูกไม่มีดี” เหมือนกับคนไทยเราๆ นี่แหละ แต่ในเรื่องการตั้งราคา หากสินค้าที่เราขายมีร้านอื่นลองอยู่แล้ว เราก็สามารถลองค้นหาราคากลางได้ แล้วตั้งราคานั้นๆ แต่ถ้าจะขายแบบทุ่มตลาดไปเลย ก็ควรติดภาพโฆษณาชวนเชื่อว่าทำไมถึงขายถูกได้ขนาดนี้ เพราะขายตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง หรืออย่างไร

5) ตกแต่งในร้านให้ดูเป็นมืออาชีพ อย่าขายสินค้าโดยไม่ตกแต่งร้าน จะทำให้ลูกค้าเมินเฉยได้ง่ายๆ


(ภาพบรรยายน่าเชื่อถือ ทำให้น่าซื้อ)

6) สินค้าคุณภาพไร้ที่ติ อย่าขายสินค้าใกล้หมดอายุ เพราะหลังจากที่ลูกค้าซื้อไปแล้ว บางทีอาจจะไม่ได้ใช้ทันที พอใกล้หมดอายุแล้วถึงจะใช้ พวกเขามีสิทธ์จะ “ต่อว่าคุณในภายหลังได้” ไม่ใช่ว่าเขาซื้อแล้วจบไป มีผลอย่างมากต่อการพิจารณาของลูกค้ารายต่อไป และคำวิจารณ์นั้น ไม่สามารถลบได้นอกจากเรื่องนี้จะให้ลูกค้าเป็นคนแก้ไขเอง จากประสบการณ์โดยตรง ทางผู้ขายจะอ่อนไหวและยอมอ่อนข้อ ให้กับลูกค้าที่วิจารณ์รุนแรงพร้อมรูปถ่าย ดังนั้นผู้ที่จะต่อสู้ในตลาดนี้ได้ ต้องยอมลูกค้าไว้ และหาทางประนีประนอมจนถึงที่สุด

7) บรรจุภัณฑ์แข็งแรง ดุจกล่องสมบัติ ถ้าหากจะขายสินค้าออนไลน์แล้ว การบรรจุสินค้าให้แน่นหนามั่นคงเพื่อให้รอดพ้นจากการแตกหักเสียหายเป็นสิ่งจำเป็นมาก สินค้าที่เข้าสู่ระบบขนส่งสินค้าในจีนแล้ว จะถูกส่งต่อไปยังในศูนย์กระจายสินค้าต่างๆ ซึ่งเมื่อเข้าไปในศูนย์กระจายสินค้าแล้ว เจ้าหน้าที่หลายแห่งของบริษัทขนส่งมักจะทำการ “โยน” เพื่อแยกสินค้า ดังนั้นเพื่อให้สินค้าถึงลูกค้าปลอดภัยจึงจำเป็นต้องบรรจุให้แข็งแรง มีการห่อหลายชั้น ถ้าเป็นครีมต่างๆ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะลูกค้ามีสิทธิจะเรียกร้องความเสียหายจากผู้ซื้อได้!


(วิธีการแยกพัสดุไปยังแต่ละพื้นที่รับผิดชอบที่อาจทำให้สินค้าชำรุดได้)

8) ช่องทางโฆษณาหลากหลาย เกาะติดประเภทลูกค้า เพราะลูกค้าจำนวนมาก ก็ย่อมมีความสนใจต่างกัน เราจะต้องเลือกโฆษณาสินค้าของเราผ่านช่องทางออนไลน์หลายประเภท เช่น QQ Wechat Weibo เว็บไซต์ เป็นต้น แต่การโฆษณานั้นก็ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อยอดการสั่งซื้อมาก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าสื่อพวกนี้เพื่อค้นหาสินค้า แต่มักจะดูจากปัจจัย 7 ข้อบนเสียมากกว่า แต่การมีช่องทางโฆษณาดังกล่าวก็จะช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของร้านค้ามากขึ้น

ในปัจจุบันสินค้าไทยกำลังติดตลาดจีนหลายตัวเช่นกัน แต่จะติดตลาดมากกว่า หากสินค้าในตลาดท้องถิ่นไทย มีเอกลักษณ์ กลิ่นอายความเป็นไทย ทำตลาดได้ในประเทศจีน อีกทั้งมันจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจ SME ได้รับการพัฒนาขยายขนาดอย่างต่อเนื่องในตลาดแห่งนี้ และช่วยให้สามารถยืนยันในภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวอยู่ ในประเทศจีนซึ่งคาดว่ากำลังผ่านพ้นจุดตกต่ำของเศรษฐกิจไปแล้ว และกำลังมีเสถียรภาพในอนาคต ตลาดแห่งนี้เป็นความหวังของผู้ประกอบการไทยได้อย่างแน่นอน! ทาง BIC หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทยทุกคน และทาง BIC จะหาสาระดีๆ เกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์จีนมาเสนอในบทความต่อๆ ไป


ที่มา : ธุรกิจออนไลน์ (2) : ชี้ช่องเจาะตลาดออนไลน์จีน กลยุทธ์บุกตลาดออนไลน์จีน
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=650&ID=15434

วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธุรกิจออนไลน์จีน ตอน 1

 ธุรกิจออนไลนจีน ตอน 1: แอปพลิเคชั่นเดียว 22 ฟังก์ชั่น 
                 Alipay ตอบทุกความต้องการเรื่องเงิน

ศรษฐกิจในยุคดิจิตอลจีนปัจจุบันเติบโตและก้าวหน้าไปไกล มีช่องทางการทำธุรกิจที่เกิดขึ้นพร้อมกับความทันสมัย ไฮเทค มากมายมากมายหลายช่องทาง และคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาของเว็บไซด์ขายสินค้ายักษ์ใหญ่อย่างเถาเป่า ( 淘宝) และ Tmall ( 天猫) เพราะนอกจากจะมีทุกสิ่งให้เลือกสรรค์ในราคาที่สามารถเลือกได้แล้ว ยังมีระบบการจ่ายเงินที่สะดวกและปลอดภัย ลดความกังวลใจเรื่องปัญหาการฉ้อโกง เพิ่มความมั่นใจให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ด้วยระบบ จือฟู่เป่า ( 支付宝) หรือ Alipay นวัตกรรมการทำธุรกรรมที่บริษัท อาลีบาบา คิดค้นขึ้นมาอำนวยความสะดวกของผู้บริโภคออนไลน์

“จือฟู่เป่า” ในภาษาจีน หรือ Alipay Wallet คือระบบที่พัฒนาขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันซึ่งต้องการความสะดวก รวดเร็ว ในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยนำวิวัฒนาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโลกดิจิตอล ปรับเปลี่ยนความยุ่งยากที่เคยมีให้ง่ายขึ้น ผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน กล่าวคือ Alipay ที่กำลังเป็นที่นิยมในประเทศจีนทำหน้าที่เสมือนกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ ( e-wallet ) ที่สามารถโอนย้ายถ่ายเงินในกระเป๋าเข้าออกระหว่างกันได้อย่างเสรีและรวดเร็ว โดยผู้ใช้งานเพียงแค่นำบัตร Debit หรือ Credit Card มาผูกเข้ากับบัญชี Alipay ก็สามารถใช้งานกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ได้สบาย ทว่าไม่เพียงแค่โอนเงินเข้า หรือแค่จ่ายเงินออก แต่ Alipay ยังมีฟังก์ชั่นการใช้งานมากมายกว่าที่ท่านคิด

App เดียวตอบทุกความต้องการ ด้วย 22 ฟังก์ชั่นของ Alipay


(ในหน้าต่างของ Alipay ที่รวบรวมหลายฟังก์ชั่นเข้าไว้ด้วยกัน)
1) ฟังก์ชั่น 扫一扫สแกนสักหน่อย คือ ฟังก์ชั่นที่ให้เราสแกนเพื่อเข้าถึงลิงค์ต่าง ๆ ตามแต่กิจกรรมที่เราต้องการจะเข้าร่วม เหมือนเป็นการ Login เข้าระบบเชื่อมต่อกับกิจกรรมที่เราต้องการ
2) ฟังก์ชั่น 付款码บาร์โค้ดเพื่อจ่ายเงิน สมาร์ทโฟนแต่ละเครื่องจะมีรหัสประจำเครื่องที่ต่างกัน และเพื่อความปลอดภัยระบบจะมีการเปลี่ยนรหัสบาร์โค้ดประจำเครื่องทุก 5 นาที โดยฟังก์ชั่นนี้เราสามารถแสดงบาร์โค้ดชำระเงินของเราให้กับร้านสะดวกซื้อ เมื่อเคาท์เตอร์ทำการสแกน บนโทรศัพท์ของเราจะโชว์จำนวนเงินและทำการชำระเงินจาก Alipay ของเราไปเข้าระบบบัญชีของทางร้านได้อย่างรวดเร็วไร้กังวล ซึ่งร้านสะดวกซื้อที่สามารถใช้บริการนี้ได้ อาทิ แฟมิลี่มาร์ท (全家) เซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) เค่อตี๋ (可的) เหลียนฮวา (联华)
3) ฟังก์ชั่น 余额宝เงินเหลือเก็บออม เหมาะสำหรับนักออมเงินทั้งหลาย ฟังก์ชั่นนี้ต่อการนำเงินที่เหลือในบัญชีของเราไปฝากในสถาบันการเงินที่มี Alipay เป็นคนกลาง และให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารทั่วไป เรียกได้ว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม แต่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติใช้บริการ
4) ฟังก์ชั่น 手机充值เติมเงินโทรศัพท์ คือ ฟังก์ชั่นให้เราเติมเงินโทรศัพท์โดยมีสิทธิ์พิเศษ หรือส่วนลด เช่น เติมเงิน 100 หยวน จากเดิมที่ต้องจ่าย 100 หยวนเต็มก็อาจจะได้ลดราคาเหลือแค่ 99.98 หยวน เป็นต้น
5) ฟังก์ชั่น 信用卡还款ชำระบัตรเครดิต โดย Alipay จะทำการจ่ายเงินผ่านบัตร Debit ที่เราเลือกเอาไว้ ขอเพียงแค่มีสมาร์ทโฟน และ Alipay ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็หมดกังวลเรื่องการชำระบัตรเครดิตเกินกำหนด
6) ฟังก์ชั่น 淘宝电影เถาเป่าดูหนัง เป็นฟังก์ชั่นสำหรับคอหนังโรงโดยเฉพาะ เพราะนอกจากจะมีโปรแกรมหนังน่าสนใจมานำเสนอ ยังมีระบบค้นหาโรงหนังที่ใกล้กับเราที่สุดและแจ้งโปรแกรมหนังและเวลาให้อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นยังรองรับการจองและจ่ายเงินค่าตั๋วผ่านระบบ Alipay พร้อมส่วนลดอีกมากมาย
7) ฟังก์ชั่น 面对付 จ่ายเงินต่อหน้า เป็นการจ่ายเงินผ่านระบบเสียง ระหว่างบัญชี Alipay หนึ่งไปยังอีก Alipay หนึ่ง โดยการสแกนระบบเสียงที่ส่งผ่านออกมาจากเครื่องผู้จ่ายเงินถึงเครื่องผู้รับ
8) ฟังก์ชั่น 亲蜜付แชร์กระเป๋าเงินให้คนรัก คือ ฟังก์ชั่นจ่ายเงินให้กันและกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องยินยอมและพร้อมใจกันกำหนดวงเงินการให้คนรักในวงเงินเท่ากัน กล่าวคือบัญชี Alipay สองบัญชีจะเชื่อมต่อกันและสามารถใช้เงินของกันและกันได้อย่างเสรี ภายใต้วงเงินที่กำหนดเอาไว้
9) ฟังก์ชั่น 股票行情 เชคสถานการณ์หุ้น ฟังก์ชั่นนี้จะเกาะติดความเปลี่ยนแปลงขึ้นลงกระดานหุ้นแบบ Real-time ได้เพื่อให้นักธุรกิจทั้งหลายได้จับตาสถานการณ์หุ้นแบบไม่หลุดกระแส แต่ยังไม่ได้เปิดบริการให้ซื้อหุ้น
10) ฟังก์ชั่น 机票ตั๋วเครื่องบิน เป็นช่องทางอำนวยความสะดวกในการซื้อตั๋วเครื่องบินแบบง่าย ๆ ให้นักเดินทางอีกทางหนึ่ง
11) ฟังก์ชั่น 水电煤ชำระค่าใช้จ่ายภายในบ้าน คือ ฟังก์ชั่นจ่ายเงินค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส โดยเราสามารถผูกที่อยู่และใบเสร็จไว้กับระบบ ซึ่งเมื่อมีการจ่ายผ่านระบบครั้งหนึ่งก็จะมีการบันทึกข้อมูลเอาไว้ โดยเมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายในเดือนต่อไประบบจะส่งข้อความแจ้งแล้วสามารถกดจ่ายได้ทันที่ต้องการ
12) ฟังก์ชั่น AA收款 แชร์กันนะ เชื่อว่าทุกคนคงมีประสบการณ์การแชร์ค่าใช่จ่ายต่าง ๆ กับกลุ่มเพื่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่ารถ ค่าของขวัญ และคงต้องเคยปวดหัวกับการที่ต้องนั่งคิดบวกลบคูณหาร และตามทวงเก็บเงินที่วุ่นวาย โดยฟังก์ชั่นนี้ช่วยให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่าย โดยระบบจะช่วยคิดและแยกจำนวนเงินเป็นส่วน ๆ ต่างคนต่างจ่ายได้ทันที
13) ฟังก์ชั่น 淘点点คูปองค์ลดราคา เหมาะสำหรับนักช้อปมือไว เพราะระบบจะประมวลหาข้อมูลร้านอาหารและเครื่องดื่มพร้อมแจกคูปองส่วนลดออกมาเป็นระยะ ทว่า คงต้องมือไวกดแย่งให้ทันเวลาก่อนที่คนอื่นจะคว้าเอาไป
14) ฟังก์ชั่น 境外游บัตรจ่ายสินค้าบริการพร้อมเป็นคู่มือคืนภาษีในต่างแดน เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวยุคดิจิตอลในการซื้อบัตรโดยสาร เช่น รถไฟฟ้า รถประจำทาง ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมหลายประเทศ อาทิ เกาหลี สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นคู่มือสำหรับนักช้อปในการขอคืนภาษีได้ด้วยการเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการขอคืนภาษีของแต่ละประเทศอีกด้วย สำหรับนักท่องเที่ยวที่ใช้ฟังก์ชั่นนี้ ในประเทศไทยสามารถใช้บริการผ่านการซื้อบัตร Rabbit ในการจับจ่ายในร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ชั้นนำทั่วไป
15) ฟังก์ชั่น 旅游优惠สิทธิพิเศษท่องเที่ยว ให้คุณซื้อตั๋วเครื่องบิน รถไฟ แพ็คเกจท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ โรงแรม บัตรเข้าสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงจ่ายค่าบริการทำวีซ่าของหลายประเทศ
16) ฟังก์ชั่น 收款 ทวงเงิน ระบบจะส่งข้อความผ่านระบบ Alipay ไปยังลูกหนี้ โดยเราไม่ต้องไปทวงเองให้เสียแรงและเสียเวลา
17) ฟังก์ชั่น 爱心捐赠 ธารน้ำใจ เป็นฟังก์ชั่นทำบุญเพิ่มความสะดวกให้กับนักบุญที่ไม่ค่อยมีเวลา โดยเป็นการทำงานร่วมกับโครงการการกุศลต่าง ๆ หรือ บุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเราสามารถเลือกบริจาคและช่วยเหลือสนับสนุนเงินตามความพอใจ
18) ฟังก์ชั่น 话费卡转让 เติมเงินให้เพื่อน สำหรับฟังก์ชั่นนี้เป็นการเติมเงินโทรศัพท์ให้กัน แต่จะคิดค่าบริการตามจำนวนเงินที่คุณเติม ซึ่งไม่ได้รับความนิยมมากนักในกลุ่มผู้ใช้งาน เพราะมีค่าบริการเสริม
19) ฟังก์ชั่น 校园一卡通 เติมเงินเข้าบัตรนักเรียน สถานศึกษาในประเทศจีน ไม่ว่าจะระดับไหนปัจจุบันนี้ได้นำระบบดิจิตอลเข้าใช้อย่างแพร่หลาย โดยใช้บัตรนักเรียน นักศึกษา จะมีลักษณะเป็น Smart Card นอกจากจะมีการเก็บประวัติเรื่องการเรียนแล้วยังสามารถเติมเงินเพื่อใช้จ่ายภายในมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย ซึ่งฟังก์ชั่นนี้ของ Alipay เน้นกลุ่มลูกค้ากลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เป็นกลุ่มตลาดใหญ่ในปัจจุบัน เพิ่มความสะดวกสบายให้ทั้งผู้ปกครองและนักเรียนเองในการเติมเงินโดยฟังก์ชั่นนี้ได้รับสนับสนุนจากสถานศึกษาเกือบทั้งหมดทั่วประเทศ
20) ฟังก์ชั่น 教育缴费จ่ายค่าเทอม เป็นการโอนเงินเข้าบัญชีทางสถานศึกษาที่เราต้องการโดยตรง ซึ่งได้รับความนิยมและยอมรับเป็นอย่างดีในกลุ่มผู้ปกครอง นักเรียนนักศึกษา และสถานศึกษาเกือบทั่วทั้งประเทศ
21) ฟังก์ชั่น 城市一卡通บัตรเดินทางในเมือง ใช้แทนบัตรคมนาคมที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือฟังชั่นให้คุณใช้โทรศัพท์จ่ายการเดินทางได้ง่ายๆ เช่น รถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องเปิดระบบ NFC เสียก่อน
22) ฟังก์ชั่น 游戏充值 เติมเงินในเกมส์ คือฟังชั่นให้คุณเติมเงินในเกมส์ที่คุณเล่น
นอกจาก ทั้ง 22 ฟังก์ชั่นที่ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมแล้ว ผู้ประกอบการยังใช้ประโยชน์จาก Alipay ในการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจได้เช่นกัน อาทิ การโอนเงินที่ลูกค้าจ่ายผ่านระบบออนไลน์เข้าสู่บัตร ATM ทันที หรือจะเลือกเก็บเงินลูกค้าไว้ระบบออนไลน์เพื่อใช้จ่ายต่อไปก็ได้ ปัจจุบันการให้บริการอออนไลน์นอกจากบริษัท Alibaba แล้ว ยังมี Tencents บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ชื่อดังผู้คิดค้นพัฒนา QQ และ Wechat ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคจีนไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจไทยควรศึกษาระบบ Alipay เพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคจีนปัจจุบัน ในส่วนของศูนย์บีไอซีจะขอเกาะติดเทคโนโลยีและนำเสนอบทความดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจไทย โดยบทความครั้งหน้าผู้ประกอบธุรกิจการนำเข้า - ส่งออก ห้ามพลาด แต่จะเป็นสินค้าอะไรอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป !!!

------------------------------------------------------------------



ที่มา : ธุรกิจออนไลนจีน (1) : แอปพลิเคชั่นเดียว 22 ฟังก์ชั่น Alipay ตอบทุกความต้องการเรื่องเงิน
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=650&ID=15221

Alipay คืออะไร

Alipay คืออะไร

                Alipay เป็นธนาคารของอินเตอร์เน็ต โดยสามารถที่จะทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านทาง alipay ได้ ซึ่งเป็นของทางประเทศจีน จะเหมือนกับ Paypal หรือว่า PAYSBUY ของบ้านเรานั้นเอง โดยสามารถที่จะผูกเข้ากับบัตรเครดิต มีการเต็มเงินถอดเงิน สามารถที่จะเติมแล้วชำระค่าสินค้าต่างๆ ในเว็บของประเทศจีนและเว็บอื่นๆ ที่ได้รองรับทั่วโลก และต้องบอกว่าตอนนี้ทั่วโลกได้ทำการรองรับไปมากแล้ว สามารถที่จะใช้งานได้อย่างสะดวกไม่ต่างจาก Paypal หากภายในประเทศจีนสามารถที่จะรองรับการทำธุรกรรมแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าสินค้า ชำระค่าบริการ ค่าน้ำ ค่าไฟ อื่นๆ ได้

             Alipay ได้ถูกก่อนตั้งขึ้นโดยบริษัทในเครือของอาลีบาบา ในปี 2004 โดยช่วยอำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าเว็บต่างๆ ของจีนนั้นเอง ดังนั้นหากใครที่สมัครเว็บใหญ่ๆ ของจีนเพื่อทำการชำระเงินถือได้ว่าต้องมีบัญชี Alipay ไว้ด้วยไม่ว่าจะเป็น ถาวป่าว อาลีบาบา หากสมัครจะได้บัญชีของ Alipay ไปด้วยเลย ดังนั้นเราไม่จำเป็นที่จะต้องทำการสมัครอีก ดังนั้นถือเป็นการอำนวยความสะดวกกับผู้ใช้จ่ายสินค้า

ขอดีของ Alipay สำหรับข้อดีนั้นมีหลายอย่าง

– สามารถที่จะซื้อสินค้าจากเว็บจีนได้เกือบทั้งหมด สะดวก สามารถที่จะเติมเงินผ่านธนาคารของจีนที่มีสาขาในประเทศไทยหรือว่าผู้ให้บริการเติมเงินจากทางคนไทยเอง ประมาร 30 -50 หยวนต่อครั้งต่อบัญชี

– จ่าค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียว ในการเติมเงินเท่านั้นไม่มีค่าธรรมเนียมในการชำระเงินหรือว่าซื้อสินค้าในเว็บ

– ทางร้านจะไม่รับเงินก่อนที่เราจะได้รับสินค้าแล้ว นั่นก็คือ หากเราได้รับสินค้าเรียบร้อยแล้ว จึงไปยืนยันและทำให้เงินถูกชำระเจ้าของร้านในเวลาถัดมา แต่ถ้าไม่ได้ยืนยันภายใน 15 วันจำนวนเงินจะดำเนินการโอนเข้าร้านเอง

– หากสินค้าไม่ได้รับหรือว่าไม่ใช่สินค้าที่ต้องการทางร้านจะไม่ได้รับเงินและเราก็จะได้รับเงินคืนเช่นกัน

– สามารถที่จะใช้ชำเงินได้อย่างมากมายหลายชนิดในจีนและต่างประเทศ เกือบทุกอย่างที่สามารถสั่งออนไลน์ได้เลยก็ว่าได้

– มีความปลอดภัยสูงในด้านการชำระเงินต่างๆ

– สามารถที่จะโอนเงินจาก Alipay เข้าบัญชีธนาคารที่เราเปิดได้ในประเทศไทยซึ่งเป็นธนาคารของจีน

                ถ้าหากเราจะทำการสั่งซื้อสินค้าที่จีน ต้องมีบัญชี Alipay นี้น่าจะคุ้มกว่าเพราะว่าเทียบกับการชำระด้วยวิธีอื่นๆ นั้นจะมีการคิดค่าธรรมเนียมต่อราคาต่อครั้ง จึงทำให้ราคาสินค้าแพง Alipay นั้นเสียแค่ค่าเติมแล้วก็ชำระค่าสินค้าอื่นๆได้เลย มีความสะดวกและปลอดภัยที่สำคัญไม่ต้องกว่าว่าเสียเงินแล้วไม่ได้สินค้า เพราะว่าเงินจะยังไม่โอนจนกว่าจะได้รับสินค้านั้นเอง

ที่มา : Alipay คืออะไร มาทำความรู้จักกัน
http://www.thaiwebsocial.com/2014/02/alipay-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3-%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99/

ถาม-ตอบ การเปิดร้านค้าออนไลน์ในจีน 

การเปิดร้านค้าออนไลน์ในจีน 
เปิดร้านค้าออนไลน์ในจีน สามารถเริ่มต้นได้อย่างไรบ้าง

ตอบ :

1. ต้องสมัครเป็นแอคเค้าท์ผู้ซื้อหรือผู้ขาย
การสมัครเปิดผู้ขายสินค้าในเว็บไซต์ Taobao.com จะต้องสมัครเป็นบัญชีผู้ซื้อก่อน จากนั้นจะต้องมีบัญชีระบบการชำระเงินออนไลน์กับเว็บไซต์ Alipay.com ที่ได้ยืนยันตัวตนผู้ใช้ไว้แล้ว (Verify member) จากนั้นก็จะสามารถสมัครเป็นเพื่อเปิดร้านได้ค่ะ ขั้นตอนการเปิดร้านค้าออนไลน์บนเว็บไซต์ Taobao.com ศูนย์ฯ กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำบทความลักษณะ How to ซึ่งประกอบด้วยภาพกระบวนการสมัครตั้งแต่เริ่มต้น บทความจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฏาคมและจะจัดส่งให้ทางอีเมล์ของคุณป้ายค่ะ

2. ผู้ขาย(ตัวเรา) ไม่ได้อยู่ประเทศจีน ต้องเปิดบัญชี Bank of China หรือบัญชีจีนใช่หรือไม่
เนื่องจากระบบรับชำระเงินออนไลน์  Alipay.com เชื่อมต่อกับธนาคารของจีนเท่านั้น ดังนั้นผู้ขายจำเป็นต้องมีบัญชีธนาคารพาณิชย์จีน ที่ได้เปิดบัญชีในประเทศจีน เพื่อให้สามารถเชื่อมกับระบบ Alipay เพื่อให้สามารถใช้โอนเงินรายได้ที่เกิดขึ้นมาได้ ทั้งนี้ การสมัครบัญชีธนาคารในจีนนั้น จะต้องสมัครใช้บริการธนาคารออนไลน์ (e-banking) ด้วย เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกรรมจากต่างประเทศ และใช้ในการตรวจสอบการรับเงินที่มาจากจายได้ใน Taobao.com ค่ะ

3. ถ้าจะขายเครื่องสำอาง (ครีมบำรุงผิว) ไม่ทราบว่าขายได้เลยหรือเปล่าค่ะ เป็นแบรนด์ที่ผ่านมาตรฐาน FDA, GMP แล้วที่ไทย
การขายสินค้าเครื่องสำอางค์ประเภทครีมบำรุงผิว สามารถนำมาจำหน่ายในจีนได้ ไม่ใช่สินค้าที่มีมาตรการห้ามนำเข้า แต่ทั้งนี้การนำเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์การจำหน่ายนั้น แม้ว่าสินค้าจะได้รับมาตรฐานด้านการผลิตในต่างประเทศ เช่น FDA, GMP ฯลฯ อยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อต้องการนำเข้ามาในจีนเพื่อจำหน่าย สินค้านั้นก็จะต้องได้รับผ่านมาตรฐานการนำเข้าด้านความปลอดภัยซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบกับหน่วยงานของจีนกล่าวคือสำนักงาน  AQSIQ ในพื้นที่ก่อน

(http://www.aqsiq.gov.cn) ซึ่งใช้ทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและขออนุญาตนำเข้า ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสินค้าเครื่องสำอางค์ประเภทครีมบำรุงผิวจากญี่ปุ่นและไต้หวันได้รับความนิยมนำเข้ามาในจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งการนำเข้าที่ถูกต้องตามกฏระเบียบด้านความปลอดภัยของทางการจีน การนำเข้าโดยถือติดตัวเข้ามาเอง (hand carry) ตลอดจนการส่งเข้ามาเป็นพัสดุย่อยทางไปรษณีย์โดยระบุเป็นของใช้ส่วนตัวหรือของขวัญแทนซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูง และเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบย้อนหลังหากพบว่านำเข้ามาเพื่อการค้าโดยไม่ได้มีการตรวจสอบเพื่อขออนุญาตการนำเข้าไว้ก่อนแล้ว

4. สินค้าประเภทอาหารเสริม สามารถขายได้ไหมคะ ผ่านมาตรฐานดั่งกล่าวทุกอย่างที่เมืองไทยแล้วค่ะ
สินค้าประเภทอาหารเสริมสามารถนำเข้ามาขายได้ โดยหากเป็นการนำเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า จะต้องผ่านมาตรฐานนำเข้าและขออนุญาตการนำเข้าจากทางการจีนก่อน แม้ว่าสินค้านั้นจะผ่านมาตรฐานที่ไทยแล้วก็ตาม เช่นเดียวกับข้อปฏิบัติของการนำเข้าเครื่องสำอางค์แต่จะมีรายละเอียดด้านการตรวจสอบการนำเข้าแตกต่างออกไปตามประเภทของสินค้าค่ะ

5. สามารถมีสินค้าหลายๆประเภทในร้านเดียวได้ไหมคะ เช่น ครีมและเสื้อผ้า
สามารถมีสินค้าหลากหลายในร้านเดียวได้ค่ะ จะเห็นได้จากหลายๆร้าน เช่น ร้านขายเสื้อผ้า อาจมีทั้งกระเป๋า รองเท้า รวมอยู่ในร้านเดียวกันด้วย เป็นต้น

6. ทำอย่างไรให้คนจีนรู้จักร้านเรามากขึ้น
วิธีที่ทำให้คนรู้จักร้านมากขึ้นนั้นอาจอาศัยวิธีทางการตลาดเป็นหลัก เช่น การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยม เช่น Weibo การลงโฆษณาในเว็บไซต์ Taobao.com เพื่อให้สินค้าปรากฏในตำแหน่งที่ดี ตลอดจนการใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การบรรยายสินค้าที่ดึงดูดให้เกิดความน่าสนใจโดดเด่น แตกต่างจากผู้ขายรายอื่น การใช้คำค้นหา (Keywords) ที่กำลังเป็นที่นิยมประกอบในสินค้าที่ได้ลงประกาศไว้ เป็นต้น ทั้งนี้ การทำให้ร้านรู้จักเราอาจไม่มีวิธีการเฉพาะที่ได้ผลแน่นอน อาจต้องอาศัยการเรียนรู้ ศึกษาตลาด ปรับปรุงและพัฒนาเทคนิคการขายอย่างต่อเนื่อง

7. ทั้งหมดทั้งกระบวนการ เราสามารถทำเองได้ที่ไทยเลยใช่หรือไม่
การซื้อขายผ่านเว็บไซต์ Taobao.com เป็นระบบที่เชื่อมผู้ซื้อผู้ขายในจีนที่อยู่ห่างไกลกันให้สามารถทำธุรกรรมซื้อขายต่อกันได้ผ่านทางระบบซื้อขายออนไลน์ และรวมไปถึงผู้ขายที่อยู่ในต่างประเทศก็สามารถลงประกาศขายสินค้า รับชำระเงินออนไลน์ โอนเงินรายได้เข้าบัญชีที่ได้เปิดไว้ในประเทศจีน และโอนเงินในบัญชีจีนกลับไทยผ่านระบบการโอนเงินข้ามประเทศธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ตามอัตราแลกเปลี่ยนธนาคารได้ ตัวอย่างของผู้ขายร้าน Taobao ที่อยู่ในต่างประเทศ สามารถค้นหาได้จากสินค้าลักษณะ Pre-order หรือสินค้าที่ผู้ขายระบุว่าอยู่ในต่างประเทศ (海外)เป็นต้น

ที่มา : ท่านถาม-เราตอบ
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/faqs/detail.php?SECTION_ID=645&ID=14364