คลังบทความของบล็อก

วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558

โอกาสธุรกิจ-ด้านเกษตร ตอน 2

ทำไมต้องผลไม้ไทย?

ความแตกต่างทางสภาพดิน ฟ้า อากาศระหว่างไทยและจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดข้อได้เปรียบที่แตกต่างกันในสองประเทศ ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน ภายใต้อิทธิพลมรสุมสองชนิดคือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำฝนมาก อุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูง ไทยมีพื้นที่ราบภาคกลางที่มีดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชเขตร้อน สภาพดินฟ้าอากาศเป็นมรสุมชัดเจน

ส่วนประเทศจีนนั้น มีสี่ฤดูกาลชัดเจน อุณหภูมิแตกต่างกันมากระหว่างภาคใต้และภาคเหนือ ภาคใต้ร้อน ภาคเหนือหนาว ฤดูร้อนในพื้นที่ส่วนใหญ่มักมีฝนตกชุกอากาศร้อน บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ไปจนถึงบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือแบ่งได้เป็นเขตชื้นที่มีอุณหภูมิและความชื้นต่างกัน พืชสวนที่สามารถปลูกได้ในแต่ละบริเวณจึงแตกต่างกันไป

สำหรับผลไม้ จีนมีการเพาะปลูกผลไม้แทบทุกภาค ผลผลิตที่มีชื่อ เช่น สาลี่หอม แคนตาลูปของเขตปกครองตนเองซินเจียง แอ๊ปเปิ้ลของเมืองเยียนไถ มณฑลซานตง องุ่นของมณฑลซานซี ส้มของมณฑลเสฉวนและเจียงซี ลิ้นจี่ของมณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลกวางตุ้ง สตรอเบอรี่ ลำไย ส้มโอของเขตปกครองตนเองก่วงซี-จ้วง โดยในแต่ละปี จีนมีปริมาณผลผลิตผลไม้ทั้งสิ้นจำนวนกว่า 60 ล้านตัน พื้นที่ที่สามารถให้ผลผลิตผลไม้สูงที่สุดคือ มณฑลซานตง รองลงมาคือ มณฑลเหอเป่ย

ตั้งแต่เริ่มใช้นโยบายการเปิดตลาดในปี 2521 ทำให้การผลิตผลไม้ของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการปลูกผลไม้มีมากคิดเป็นอันดับสามของการเพาะปลูกทั้งหมด จีนมีการผลิตแอปเปิ้ลและลูกแพร์มากที่สุดในโลก และมีการปลูกผลไม้ตระกูลส้มมากเป็นอันดับ 3 ของโลก จีนจึงเป็นประเทศผู้ผลิตและบริโภคผลไม้มากที่สุดในโลก แต่ขณะที่ปริมาณการผลิตผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ความต้องการของผู้บริโภคกลับเพิ่มสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางภาคใต้ของจีนในบางพื้นที่ เช่น มณฑลกวางตุ้ง ฝูเจี้ยน หรือเขตปกครองตนเองก่วงซี-จ้วง จะสามารถเพาะปลูกพืชและผลไม้เมืองร้อนได้ เช่น กล้วย มะม่วง มะละกอ แต่กระนั้นด้วยอุปสรรคด้านสภาพอากาศที่ไม่ร้อนตลอดทั้งปี ส่งผลให้รสชาติและคุณภาพของผลไม้ที่เพาะปลูกได้ในประเทศยังไม่ดีเท่าที่ควร รวมทั้งปริมาณความสามารถในการผลิตก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งประเทศด้วยจีนจึงยังมีความต้องการผลไม้ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปีเห็นได้ว่า ข้อได้เปรียบของไทยต่อจีนด้านการผลิตสินค้าเกษตรอยู่ที่ปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิ เหมาะสมกับการการเพาะปลูกพืชและผลไม้เมืองร้อนได้ตลอดทั้งปี ไทยสามารถผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดที่จีนไม่สามารถผลิตได้ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้เขตร้อน ยางธรรมชาติ น้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง เป็นต้น สภาพดินฟ้าอากาศจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญหนึ่งที่ทำให้จีนต้องนำเข้าจากไทย ดังนั้น “จีน” จึงถือเป็นแหล่งรองรับการขยายตัวด้านการส่งออกของสินค้าเกษตรไทยได้อย่างดี โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อน

จีน -- ผู้นำเข้าผลไม้รายใหญ่จากไทย

ผลไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยผลไม้สามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท และผลไม้ไทยยังเป็นที่นิยมบริโภคกันทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ความต้องการบริโภคผลไม้นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากสาเหตุหลักคือจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและความสนใจในสุขภาพก็มีมากขึ้นด้วย ในการผลิตผลไม้ถือได้ว่าไทยเป็นประเทศที่มีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการผลิตผลไม้เมืองร้อนหลากหลายชนิด ตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงภาคใต้ ส่วนฤดูกาลให้ผลผลิตผลไม้แต่ละชนิดก็ยังแตกต่างกันไปในแต่ละสภาพพื้นที่ของแต่ละภาค จึงเป็นข้อดีประการหนึ่งที่ส่งผลให้ไทยมีผลไม้หลากหลายชนิดหมุนเวียนออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี

แหล่งนำเข้าผลไม้ไทยที่สำคัญของจีนอยู่ในเขตมณฑลกวางตุ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดขายส่งผลไม้หนานไห่ ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยผู้นำเข้าผลไม้ของจีนจะมีตัวแทนรับซื้อร่วมทุนกับฝ่ายไทยในการรวบรวมผลไม้ไทยก่อนส่งมายังจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการส่งผ่านทางฮ่องกง

ในปัจจุบัน จีนถือเป็นตลาดนำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทยที่สำคัญที่สุด จากข้อมูลทางสถิติของกระทรวงพาณิชย์ประเทศไทย พบว่า ตั้งแต่ปี 2553 - 2556 (7 เดือนแรก) ประเทศจีนครองความเป็นอันดับหนึ่งด้านการนำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทยตลอดมา ขณะที่รองลงมา ได้แก่ ฮ่องกง เวียดนาม อินโดนีเซีย โดยในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2556 ไทยมียอดการส่งออกผลไม้สดไปจีนคิดเป็นมูลค่า 6,661.68 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกัน (7 เดือนแรก)เมื่อเทียบกับปี 2555 อยู่ร้อยละ 17 ส่วนยอดการส่งออกผลไม้สดมาจีนตลอดปี 2555 คิดเป็นมูลค่า 9,224.22 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 49.07 จะเห็นว่าผลไม้สดจากไทยที่ส่งออกไปยังจีนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี และยังขยายตัวในอัตราที่น่าพอใจ

สำหรับในเรื่องสัดส่วนการนำเข้า การนำเข้าผลไม้สดจากไทยของประเทศจีนเมื่อเทียบกับผู้นำเข้าทั้งหมดตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2555 คิดเป็นร้อยละ 37.27, 36.38, และ 42.66 ตามลำดับ ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวของเกาะฮ่องกงคิดเป็นร้อยละ 22.41, 25.28 และ 17.49 ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าเมื่อรวมสัดส่วนการนำเข้าผลไม้สดจากจีนแผ่นดินใหญ่และเกาะฮ่องกงเข้าไว้ด้วยกันแล้ว มีการนำเข้าผลไม้สดจากไทยอยู่ที่ราวร้อยละ 60 ของยอดการส่งออกทั้งหมด ซึ่งตลาดผู้บริโภคทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงต่างถือได้ว่าเป็นชาวจีนซึ่งนิยมการบริโภคผลไม้สดจากเมืองร้อนและเป็นตลาดของผลไม้สดที่สำคัญของไทยซึ่งจากยอดการส่งออกผลไม้สดของไทยไปยังภูมิภาคดังกล่าวที่ขยายตัวต่อเนื่องทุกปีด้วยอัตราการขยายตัวแบบตัวเลขสองหลัก จึงสะท้อนให้เห็นว่าตลาดผู้บริโภคชาวจีนที่นอกจากจะมีขนาดที่ใหญ่มากแล้ว ผู้บริโภคจีนในปัจจุบันได้ติดใจในรสชาติและคุณภาพของผลไม้ไทย และพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อผลไม้ไทยมาบริโภค โดยเฉพาะ ชาวจีนที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดชนชั้นกลางรวมถึงเศรษฐีใหม่ขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้านการบริโภคเมื่อคนจีนมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้นและความสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น คนจีนจึงต้องการเลือกซื้อผลไม้ที่มีคุณภาพมากขึ้น จากรายงานตัวเลขค่าใช้จ่ายการบริโภคผักและผลไม้ประจำปี 2555 ระบุว่าคนจีนที่อยู่ในเมืองใช้เงินโดยเฉลี่ยคนละ 506.30 หยวน และ 591.97 หยวน ในการซื้อผลไม้แห้งและผักผลไม้สดรับประทาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.73 และ 12.26 จากช่วงเดียวกันของปี 2554 ตามลำดับ ในที่นี้ ชาวกรุงปักกิ่ง ใช้เงินโดยเฉลี่ยซื้อผลไม้สดรับประทานมากที่สุด คือ 772.88 หยวน

ปัจจุบันรัฐบาลจีนอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทย จำนวน 22 ชนิด สำหรับผลไม้ที่ได้รับความนิยม ได้ แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วยไข่ ชมพู่ทับทิมจันทร์ มะม่วงน้ำดอกไม้ เงาะโรงเรียน ส้มโอ มะขามหวาน มะพร้าวน้ำหอม และน้อยหน่า นอกจากนั้นยังมีผลไม้แปรรูปหลายชนิดกำลังเป็นที่นิยมด้วย อาทิ ลำไยอบแห้ง ทุเรียนทอดกรอบ กล้วยอบกรอบ ขนุนและสับปะรดอบกรอบ เป็นต้น

ดังนั้น นักธุรกิจไทยยังคงต้องจับตา ตลาดส่งออกผลไม้ของไทยอย่างใกล้ชิด เพราะนี่คือ “โอกาส”สำคัญที่ไทยถือได้ว่ามีศักยภาพเหนือประเทศคู่แข่งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน

ที่มา : ศึกษาโอกาส
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/index.php?SECTION_ID=607

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น