คลังบทความของบล็อก

วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558

โอกาสธุรกิจ-ด้านเกษตร ตอน 3

โอกาสการค้าสินค้าเกษตรของไทยสู่จีน

1. ผู้บริโภคในมณฑลตอนในและหัวเมืองชั้นรอง

ตลาดจีนมีโอกาสขยายการส่งออกได้อีกมาก เนื่องจากจีนมีประชากรจำนวนมากกว่า1,300 ล้านคน และเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมีเสถียรภาพ รายได้ของประชากรดีขึ้น นอกจากเมืองที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามแนวชายฝั่งด้านตะวันออกของจีนแล้ว มณฑลตอนในหลายแห่งยังเป็นตลาดของผู้บริโภคที่มีศักยภาพ โดยขึ้นอยู่กับว่า นักธุรกิจไทยจะสามารถนำสินค้าเกษตรของไทยกระจายเข้าสู่หัวเมืองและพื้นที่ต่าง ๆ ที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเลอย่างไร เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนค่าขนส่งที่สุด ในจุดนี้ไทยน่าจะมีโอกาสในการเจาะตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ผู้บริโภคจีนนิยมซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า เนื่องจากมีรายได้มากขึ้น กอปรกับมีห้างสรรพสินค้ากระจายไปทั่วประเทศ ดังนั้น การขยายช่องทางกระจายสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคในห้างสรรพสินค้าที่มีลูกค้าที่มีกำลังจ่ายสูง นอกเหนือจากตลาดสดหรือร้านผลไม้ตามชุมชน ก็เป็นอีกโอกาสที่ควรพัฒนาและขยายช่องทางการขาย

2. ผลไม้ที่ไม่ใช่แค่ “ทาน” อย่างเดียว

ผลไม้ถือเป็นสินค้าจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวจีน ทั้งในแง่ของโภชนาการและประเพณี กล่าวคือ นอกจากจะรับประทานเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงแล้ว ชาวจีนยังใช้ผลไม้เป็นของขวัญเพื่อมอบให้แก่กันในงานฉลองและเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ตามปฏิทินจันทรคติของจีนด้วย เช่น เทศกาลตรุษจีน เชงเม้ง ไหว้พระจันทร์ เป็นต้น ผลไม้ไทยที่เป็นที่นิยมในจีนหลายชนิด ถือเป็นอีกตัวเลือกของของขวัญที่ชาวจีนที่มีรายได้สูงขึ้นใช้เป็นของขวัญมอบให้กัน โดยในหน้าช่วงเทศกาลหรือโอกาสพิเศษต่าง ๆ ชาวจีน มักนิยมเลือกซื้อผลไม้จากไทยมารับประทานร่วมกับครอบครัว ผู้อาวุโส หรือกลุ่มเพื่อนซึ่งโดยปกติแล้ว หากมีการจัดเป็นกระเช้าของขวัญให้สวยงาม ก็ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าได้อีกด้วย ดังนั้น การที่เศรษฐกิจจีนดีขึ้น จึงช่วยทำให้การบริโภคผลไม้เติบโตขึ้นตามไปด้วยทั้งจากการซื้อเพื่อการบริโภคเอง และการซื้อให้เป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆ

3. ชื่อเสียงของผลไม้ไทยในผู้บริโภคชาวจีน

หากกล่าวถึงผลไม้เมืองร้อน นอกจากผลไม้ที่ผลิตได้เองในประเทศตามมณฑลตอนใต้ของจีนแล้วสำหรับผู้บริโภคชาวจีน ผลไม้ไทยถือได้ว่าได้รับความไว้วางใจ ทั้งในแง่ของรสชาติและคุณภาพ ครองใจผู้บริโภคอยู่ แม้ว่าราคาอาจจะค่อนข้างสูงโดยเปรียบเทียบกับผลไม้จากแหล่งอื่น แต่ผู้บริโภคก็ยังเลือกบริโภคผลไม้ไทยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุเรียน มังคุด ลำไย ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์

4. กระแสความปลอดภัยด้านอาหารและการรักษาสุขภาพ

หลายปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวจีนมีความสนใจเรื่องความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมด้านอาหาร รวมทั้งสื่อมวลชนจีนก็ให้ความสำคัญอยู่เสมอ ส่งผลให้สินค้าที่จำหน่ายในตลาดต้องเน้นความปลอดภัยในการใช้หรือการรับประทานมากขึ้น ปัญหาประเด็นด้านความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) จึงกลายเป็นหนึ่งในปัญหาระดับชาติที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมาก ดังนั้น กระแสรักสุขภาพที่กำลังได้รับความสนใจในจีน เช่น ผักผลไม้ปลอดสารพิษจึงได้รับความสนใจอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงคุณค่าและความปลอดภัยของผลไม้ไทยที่มีต่อร่างกาย เพื่อเป็นจุดขายอีกอย่างหนึ่งด้วย

5. ขยายช่องทางการนำเข้า

จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ส่งผลให้การขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยไปจีนมีโอกาสขยายเส้นทางทะเลมุ่งสู่ตลาดจีนโดยไม่ต้องผ่านฮ่องกง เนื่องจากมีการลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ ทำให้ไทยสามารถส่งสินค้าไปท่าเรือและสนามบินของเมืองต่าง ๆ ของจีนโดยตรงได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกเพิ่มมากขึ้น นอกจาก การขนส่งทางเรือและเครื่องบินที่ใช้อยู่เดิมแล้ว ขณะนี้ไทยและจีนยังได้ร่วมมือกันเปิดช่องทางการนำเข้าสินค้าเกษตรใหม่ ผ่านเส้นทางรถยนต์ กล่าวคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามใน ’พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและจีน“ร่วมกับ สำนักงานควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรค (AQSIQ) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้ความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งภายหลังการลงนามในพิธีสารฯ ทำให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้ 23 ชนิด ไปยังจีนได้ โดยผ่านเส้นทางบกสาย R3 เริ่มจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ผ่าน เมืองห้วยทราย บ่อแก้ว หลวงน้ำทา บ่อเต็น ของลาว เข้า เมืองโม่หาน จิ่งหอ เชียงรุ้ง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีเหตุผลและความจำเป็นคือ เพื่อสร้างความมั่นใจระหว่างสองประเทศว่า การส่งผลไม้ระหว่างกันผ่านทางบกสาย R3 จะไม่มีการปลอมปนผลไม้และสิ่งอื่น ๆ จากประเทศอื่นและเพิ่มความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้า ณ ด่านนำเข้าระหว่างกัน และสาระสำคัญแห่งพิธีสารนั้นคือ ทั้งสองฝ่ายจะมีมาตรการกำกับดูแลการปลอมปนสินค้าโดยการปิดผนึกตู้สินค้าก่อนส่งออกและการแสดงหมายเลขกำกับ สำหรับผลไม้ 23 ชนิดนั้นได้แก่ กล้วย เงาะ ละมุด สละ มะขาม ส้มเขียวหวาน สับปะรด มะม่วง ทุเรียน มะละกอ เสาวรส มังคุด ชมพู่ มะเฟือง ส้มโอ ส้ม มะพร้าว น้อยหน่า ฝรั่ง ขนุน ลองกอง ลำไย และลิ้นจี่

ดังนั้น การเปิดเส้นทางดังกล่าวนี้จะช่วยให้นักธุรกิจไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังจีนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออกผลไม้ไปจีนและสามารถกระจายผลไม้ไปยังตลาดมณฑลทางตอนใต้และตะวันตกของจีนได้โดยตรง จากเดิมต้องผ่านฮ่องกง เซินเจิ้น หรือตลาดเจียงหนาน มณฑลกวางตุ้ง แล้วจึงกระจายไปยังมณฑลต่าง ๆ ของจีน ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดและขยายช่องทางการจำหน่ายผลไม้ของไทยได้เพิ่มมากขึ้น

ที่มา : ศึกษาโอกาส
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/index.php?SECTION_ID=607

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น