คลังบทความของบล็อก

วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การส่งออกสินค้าไปจีน ตอน 4

การขนส่งและการผ่านพิธีการศุลกากร
How to export to China? 
มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!


บทความในตอนที่ผ่านมาได้อธิบายถึงการจัดเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีน ซึ่งมีทั้งเอกสารที่ศุลกากรไทยใช้ตรวจปล่อยสินค้าออกจากไทย และเอกสารที่ศุลกากรจีนใช้ตรวจสอบก่อนอนุญาตให้นำเข้าสินค้าสู่จีน ขั้นตอนต่อไปหลังจากที่เตรียมเอกสารทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว คือ การดำเนินการเพื่อจัดส่งสินค้าจากไทยสู่จีน

สำหรับขั้นตอนการขนส่งสินค้านั้น ผู้ส่งออกจำเป็นจะต้อง ศึกษาข้อกำหนดการส่งมอบสินค้า (Incoterms) รวมถึงการประกันภัยสินค้า ในกรณีที่ Incoterms ครอบคลุมความรับผิดชอบด้านประกันภัยถึงผู้ส่งออกด้วย อีกทั้งการผ่านพิธีศุลกากรของทั้งฝั่งไทยและฝั่งจีน โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนขอนำเสนอข้อมูลดังกล่าวผ่านบทความตอนที่ 4 เรื่อง "การขนส่งและการผ่านพิธีการศุลกากร" ซึ่งเป็น ตอนจบของบทความชุด How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!

"Incoterms" รู้จักไว้.. เลือกใช้ตามความเหมาะสม

ระหว่างการตกลงซื้อขายสินค้า ผู้ส่งออกจะต้องหารือกับผู้ซื้อแล้วว่าจะใช้เงื่อนไขการมอบสินค้า (Incoterms) แบบไหน โดยแต่ละ Incoterms ได้กำหนดให้ผู้ขายแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ส่งออกจึงควรศึกษาทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนตัดสินใจว่าจะส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อในลักษณะใด โดยปัจจุบันสภาหอการค้านานาชาติ (ICC: International Chamber of Commerce) ได้กำหนด Incoterms ล่าสุดประจำปี ค.ศ. 2010 ไว้เป็นแนวทางสำหรับคู่ค้าใช้พิจารณาเลือกใช้รวมทั้งสิ้น 10 ประเภท ได้แก่

EXW (Ex Works)

ผู้ขายรับภาระจัดเตรียมสินค้าสำหรับส่งมอบให้กับผู้ซื้อ ณ สถานที่ของผู้ขาย (ส่งมอบ ณ โรงงาน) โดยผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดกระบวนการขนส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางของตนเอง

FCA (Free Carrier)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งซึ่งกำหนดโดยผู้ซื้อ โดยผู้ขายต้องทําพิธีการส่งออก รวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าและความเสี่ยงภัยตลอดระยะการขนส่งจากสถานที่ของผู้ขายไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งด้วย ขณะที่ผู้ซื้อจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการขนสินค้าและ ความเสี่ยงภัยไปยังจุดหมายปลายทางของตนเอง

FAS (Free Alongside Ship)

ผู้ขายรับภาระนําสินค้าส่งไปยังกราบเรือ ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ซื้อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนำสินค้าของขึ้นเรือ ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ความเสี่ยงภัยในการนำของขึ้นเรือและระหว่างขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง รวมถึงต้องรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกเองด้วย

FOB (Free On Board)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกด้วย ขณะที่ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งตั้งแต่ที่สินค้าผ่านกราบระวางเรือไปแล้ว

CFR (Cost and Freight)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ขายรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกและจ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า ขณะที่ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งตั้งแต่ที่สินค้าผ่านกราบระวางเรือไปแล้ว

CIF (Cost, Insurance & Freight)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ขายจะต้องรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออก อีกทั้งจ่ายค่าระวางเรือ และค่าประกันภัยระหว่างการขนส่งสินค้าถึงเมืองท่าปลายทาง

CPT (Carriage Paid To)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งสินค้าซึ่งระบุโดยผู้ซื้อ ณ เมืองท่าต้นทาง โดยผู้ขายจะรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกและจ่ายค่าระวางขนส่งสินค้าด้วย ขณะที่ผู้ซื้อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งตั้งแต่ที่สินค้าถูกส่งมอบให้ แก่ผู้รับขนส่งสินค้า ณ เมืองท่าต้นทาง

CIP (Carriage and Insurance Paid To)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งสินค้าซึ่งระบุโดยผู้ซื้อ ณ เมืองท่าต้นทาง โดยผู้ขายรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออก จ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า และค่าประกันภัยระหว่างการขนส่งสินค้าถึงเมืองท่าปลายทาง

DAT (Delivered At Terminal)

เป็นเทอมใหม่แทน DEQ โดยผู้ขายตามเทอม DAT รับภาระขนถ่ายสินค้าลงจากยานพาหนะที่บรรทุกไปไว้ยังสถานที่ที่ผู้ซื้อจัดไว้ ณ อาคารขนถ่ายสินค้าที่ท่าปลายทางหรือสถานที่ที่ระบุไว้

DAP (Delivered At Place)

เป็นเทอมใหม่แทน DAF , DES , DEQ และ DDU โดยผู้ขายตามเทอม DAP ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ยกเว้นค่าภาษีและพิธีการนำเข้า รวมถึงจะต้องรับความเสี่ยงภัยจนสินค้าถึงจุดหมายปลายทาง

DDP (Delivered Duty Paid)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้า ณ สถานที่ปลายทางของผู้ซื้อ โดยผู้ขายรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออก จ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า ค่าประกันภัยขนส่งสินค้า รวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งค่าใช้จ่ายในการนําของลงจากเรือและค่าขนส่งสินค้าไปยังสถานที่ที่ ผู้ซื้อระบุไว้ ตลอดจนต้องดําเนินพิธีการนําเข้าสินค้าและจ่ายค่าภาษีนําเข้าแทนผู้ซื้อด้วย

หมายเหตุ : สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Incoterms ได้ที่เว็บไซต์ www.livingstonintl.com เมนู Resources เลือก Shipping หัวข้อ “Incoterms® 2010”

ขนส่งออกไทย.. ติดต่อผู้ให้บริการโลจิสติกส์


สำหรับเรื่องการขนส่งสินค้าออกจากไทยนั้น ตามปกติแล้ว ผู้ส่งออกจะติดต่อกับบริษัทโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ช่วยดำเนินการขนส่งสินค้าตามเงื่อนไขที่ได้เจรจาไว้กับผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าในจีน โดยบริการของบริษัทโลจิสติกส์มีตั้งแต่การติดต่อบริษัทตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) เพื่อดำเนินการเรื่องการจองระวางเรือ (หรือพื้นที่ระวางสินค้าทางบก/อากาศ) การบรรจุสินค้า การขนส่ง การดำเนินพิธีศุลกากรขาออกจากไทย การจัดการเกี่ยวกับเอกสารส่งออกและนำเข้า หรือการประกันภัยระหว่างการขนส่งสินค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัท Freight Forwarder บางรายอาจรับทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการจัดหาและจัดการขนส่งสินค้าของผู้ส่งออกไปยังเมืองท่าปลายทาง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ส่งสินค้า หรือทำหน้าที่เป็นผู้ขนส่งสินค้าโดยตรง ซึ่งอาจเป็นผู้ประกอบการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transport Operator) หรือเป็นผู้ให้บริการที่ไม่ใช่เจ้าของเรือ (Non-Vessel Operating Common Carrier : NVOCC) ซึ่ง Freight Forwarder จะมีสถานะเสมือนหนึ่งผู้รับขนส่งสินค้าที่สามารถจะลงนามในใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading) ได้ด้วย

ผู้ส่งออกสามารถค้นหารายชื่อบริษัทตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและบริษัทชิปปิ้งได้ที่

สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย http://www.ctat.or.th เมนูรายชื่อสมาชิก
สำนักโลจิสติกส์การค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.tradelogistics.go.th เลือกเมนูค้นหา LSP- Logistics Service Provider
ฝ่ายโลจิสติกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbdlogistics.com/search.html หน้าค้นหาผู้ประกอบการ โลจิสติกส์
ติดต่อประกันภัย.. ตามเงื่อนไข Incoterm


สำหรับเงื่อนไขเทอมการค้า (Incoterm) CIF และ CIP นั้น ผู้ขาย (ผู้ส่งออก) มีหน้าที่รับผิดชอบครอบคลุมถึงเรื่องการประกันภัยระหว่าง การขนส่งสินค้าด้วย ดังนั้น ก่อนการขนส่งจึงต้องติดต่อกับบริษัทผู้ให้บริการประกันภัยขนส่งสินค้าเพื่อจัดซื้อประกันภัยดังกล่าว

การประกันภัยสำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเลของไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งกำหนดขอบเขตการคุ้มครองครอบคลุมถึงเรื่องการประกันความเสียหายแก่เรือ การประกันภัยตัวเรือ (Hull) และทรัพย์สิน หรือการประกันภัยสินค้า (Cargo) ที่อยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเล รวมถึงยังขยายขอบเขตความคุ้มครองไปถึงการขนส่งสินค้าทางบกและทางอากาศ ซึ่งต่อเนื่องกับการขนส่งทางทะเลด้วย

ทั้งนี้ ผู้ซื้อประกันภัยสามารถเลือกเงื่อนไขและขอบเขตความคุ้มครองตามชุดเงื่อนไขการประกันภัยที่ในตลาดการประกันภัยทางทะเลและขนส่งของประเทศไทย (อ้างอิงใช้ตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกลุ่มผู้รับประกันภัยที่ใช้ ในอังกฤษ) โดยมีชุดเงื่อนไขความคุ้มครองที่นิยมเลือกใช้รวม 3 ชุด ซึ่งมีขอบเขตความเสี่ยงภัยที่คุ้มครองลดหลั่นลงไปตามลำดับ ได้แก่ The Institute Cargo Clauses ‘A’ Clauses ‘B’ และ Clauses ‘C’ ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภัยที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง และการขอรับเงินประกันภัยได้ที่ www.oic.or.th/th/elearning/index2.php และสามารถค้นหารายชื่อบริษัทที่รับประกันวินาศภัยทางทะเลได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมประกันวินาศภัยไทย www.thaigia.com/Member.html

“E-Customs” บริการใหม่.. ผ่านพิธีศุลกากรไทยสะดวกสบาย


ปัจจุบัน กรมศุลกากรไทยใช้กระบวนการผ่านพิธีการทางศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาติดต่อ ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลด้านการส่งออกแบบไร้เอกสาร (paperless) พร้อมลงรายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (digital signature) ของเจ้าของลายมือชื่อ โดยเมื่อระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรยืนยันและตอบรับความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ส่งออกยื่นผ่านระบบแล้ว ก็ถือว่าเป็นการยื่นเอกสารผ่านพิธีการที่เสร็จสิ้นเรียบร้อยและถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร

การผ่านพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1) การจัดทำใบขนสินค้าขาออก 2) การบรรจุสินค้าและการจัดทำใบกำกับการขนย้ายสินค้า 3) การขนย้ายสินค้าผ่านสถานีรับบรรทุก ณ ท่าเรือ/สนามบินที่ส่งออก 4) การตัดบัญชีใบกำกับการขนย้าย และ 5) การรับบรรทุกของส่งออก โดยสามารถศึกษาวิธีการดำเนินการแต่ละขั้นตอนเพิ่มเติมได้ที่ www.cdscom.co.th/contents/public/paperlesscustoms/Customs/export.pdf

ทั้งนี้ วิธีการส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกกระทำได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ 1) ผู้ส่งออกส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกด้วยตนเอง 2) ผู้ส่งออกมอบหมายให้ตัวแทนออกของ (Customs Broker) เป็นผู้ส่งข้อมูลแทน 3) ผู้ส่งออกใช้บริการที่เคานท์เตอร์กรมศุลกากรในการส่งข้อมูล และ 4) ผู้ส่งออกยื่นใบขนสินค้าขาออก พร้อมแนบรายละเอียดข้อมูลใบขนสินค้าและชำระค่าธรรมเนียมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ด่าน/ท่าเรือ/สนามบินที่ส่งของออก โดยทั่วไปผู้ส่งออกนิยมให้ "ตัวแทนผู้ออกของ" หรือ Custom Broker ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการผ่านพิธีการทางศุลกากรแทนตนเอง โดยสามารถค้นหารายชื่อตัวแทนผู้ออกของอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สมาคมตัวแทนออกของอิเล็กทรอนิกส์ไทย www.eca.or.th

นอกจากนี้ บริษัทชิปปิ้งบางรายอาจมีสถานะเป็น Customs Broker ด้วย ผู้ส่งออกจึงอาจพิจารณาเลือกใช้บริการของบริษัทชิปปิ้งดังกล่าวในการดำเนินการพิธีการศุลกากรแทนผู้ส่งออกได้ โดยบริษัทชิปปิ้งจะช่วยจัดทำ ใบขนสินค้า ยื่นใบขนสินค้าต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ด่านศุลกากรเพื่อให้มีการตรวจปล่อยสินค้าออกจากไทย และเมื่อสินค้าส่งถึงที่หมาย ณ ประเทศจีนแล้ว ก็ดำเนินพิธีการศุลกากรฝั่งขาเข้าจีนเพื่อส่งมอบสินค้าที่นำเข้ามาให้แก่ผู้นำเข้าได้ด้วย


ผ่านพิธีการขาเข้า.. ช่วยแบ่งเบาด้วย “Customs Broker”

เมื่อสินค้าส่งถึงท่าเรือ/ท่าอากาศยานของจีนแล้ว จำเป็นจะต้องมีตัวแทนผู้ออกของ (Customs Broker) ในจีนที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรจีน สำหรับทำหน้าที่ดำเนินพิธีการศุลกากรฝั่งขาเข้าจีน เพื่อจัดการให้สินค้าได้รับอนุญาตตรวจปล่อยผ่านเข้าอาณาเขตของประเทศจีนจากศุลกากรจีนก่อน แล้วจึงจะสามารถจัดส่งสินค้าถึงผู้รับ (ผู้ซื้อ) ได้ในลำดับต่อไป

การผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้าประเทศจีนนั้น อาจพิจารณาใช้บริการของบริษัท Customs Broker ที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นจีน หรือบริษัทจีนที่มีเครือข่ายความร่วมมือกับบริษัทโลจิสติกส์ฝั่งไทย ทั้งนี้ หากคู่ค้าจีนของผู้ส่งออกเป็นผู้นำเข้าสินค้าในจีนที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว อาจสอบถามคู่ค้าจีนถึงรายชื่อบริษัท Customs Broker ในจีนที่รับดำเนินพิธีการทางศุลกากรจีนได้เช่นกัน


หลังส่งสินค้าออกจากไทย.. อย่าลืมไปขอคืนภาษีอากร

ตามนโยบายสนับสนุนการส่งออกของประเทศไทย กระทรวงการคลังกำหนดให้ผู้ส่งออกสินค้าจากไทยไปต่างประเทศสามารถยื่นเรื่องกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอคืนภาษี/อากรบางประเภทได้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่ซื้อมาจากในไทย/สินค้าที่ผลิตหรือใช้วัตถุดิบในไทย และภาษี/อากรนำเข้าสำหรับสินค้าส่งออกที่ใช้วัสดุจากต่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้น หากได้ดำเนินการส่งสินค้าออกจากไทยไปจุดหมายปลายทางที่จีนเรียบร้อยแล้ว ผู้ส่งออกอย่าลืมดำเนินการเพื่อขอคืนภาษีอากรดังกล่าวด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรมสรรพากร
สิ่งที่จะได้รับคืนภาษี สินค้าหรือวัตถุดิบที่หาซื้อจากในไทย โดยราคาที่ซื้อมามีภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ด้วย
วีธีการยื่นขอคืนภาษี ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชําระภาษีและขอคืนภาษีมูลค่า รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และใบกํากับภาษีที่ถูกต้อง ทั้งนี้ หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อก็จะสามารถขอคืนภาษีได้โดยสามารถขอคืนได้ในรูปแบบเครดิตภาษี (นำส่วนต่างหักลบจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องชำระในเดือนถัดไป) หรือคืนในรูปแบบเงินสดผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th เมนู "ความรู้เรื่องภาษี" เมนูย่อยด้านซ้าย "ผู้ประกอบการส่งออก"
2. การขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ

ตามมาตรา 19 ทวิแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ได้กำหนดให้ผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศสามารถขอคืนค่าภาระภาษีอากรต่างๆ ได้ อาทิ อากรขาเข้า ค่าธรรมเนียมภาษีอื่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย เป็นต้น ซึ่งผู้นำของเข้าได้เสียหรือวางประกันไว้ขณะนำเข้า โดยเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้นำวัตถุดิบนั้นไปผลิตผสม ประกอบหรือบรรจุเป็นสินค้าส่งออกแล้ว ก็จะได้รับการคืนอากรโดยจะคำนวณค่าภาษีอากรที่คืนให้ตามสูตรการผลิต ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าจะต้องผลิตและส่งออกภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้นำเข้า และต้องขอคืนเงินอากรภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นออกไป

หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรมศุลกากร
สิ่งที่จะได้รับคืนภาษี 1. วัตถุดิบที่เห็นได้ชัดว่ามีอยู่ในของที่ผลิตเพื่อส่งออก
2. วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโดยตรงที่มีอยู่ในของที่ผลิตส่งออก แต่ไม่ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน
3. วัตถุดิบจำเป็นที่ใช้ในการผลิต
วีธีการยื่นขอคืนภาษี ผู้นำของเข้าจะต้องยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ (แบบ กศก.29) ต่อส่วนคืน และชดเชยอากร สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ซึ่งต้องแจ้งความจำนงต่อกรมศุลกากร และยื่นเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถศึกษาขั้นตอนและเงื่อนไขการยื่นขอคืนได้ที่เว็บไซต์กรมศุลกากร www.customs.go.th เมนูด้านซ้าย "สิทธิประโยชน์ทางศุลกากร" หัวข้อ "การคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ"
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความชุดเรื่อง How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!! ทั้ง 4 ตอน จะมีส่วนช่วยเพิ่มพูนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนให้กับผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดจีน ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจมีคำถามเพิ่มเติมประการใด ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนทั้ง 9 แห่งมีความยินดีและพร้อมให้บริการข้อมูลทุกท่านเสมอ

ที่มา : http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/start/step_exports.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น