คลังบทความของบล็อก

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เศรษฐีจีนเห่อของนำเข้า

จับจุดเศรษฐีจีนเห่อของนำเข้า สร้างโอกาสให้สินค้าไทย


เมื่อช่วงกลางเดือน ก.ค. 54 สื่อจีนได้รายงานข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากคนจีนทั้งประเทศ คือ เฟอร์นิเจอร์ยี่ห้อ “ดาวินชี่” (Davinci) ประเทศจีนถูกแฉเทคนิคกลลวง นำเฟอร์นิเจอร์ต้นทุนหลัก 1,000 หยวนที่ผลิตแถวๆ มณฑลกวางตุ้งมาแหกตาผู้บริโภคว่าเป็นสินค้านำเข้าจากอิตาลีที่ตั้งราคาขายต่อชุดถึงหลัก 10,000-100,000 หยวน ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนี้ สำหรับเจ้าของสินค้าและบริการของไทยแล้ว นับเป็นปรากฏการณ์สะท้อนทัศนคติ พฤติกรรม และสภาพความเป็นจริงของผู้บริโภคจีนที่น่า สนใจยิ่ง

กลลวงของ “ดาวินชี่”
สถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีนลงพื้นที่ล้วงลึกข้อเท็จจริงกรณีเฟอร์นิเจอร์ยี่ห้อดาวินชี่ พบว่า สินค้าของดาวินชี่แท้จริงแล้วไม่ใช่สินค้านำเข้าจากอิตาลี 100% ดั่งที่ได้โฆษณากับลูกค้าทั้งหมด วัตถุดิบที่ใช้ผลิตก็มิใช่ไม้ชนิดพิเศษจากอิตาลีอย่างที่อวดอ้าง แต่กลับเป็นแค่เรซิน ไม้อัดจีน และไม้อัดขี้เลื่อยเท่านั้น ซึ่งเรื่องก็แดงขึ้นในที่สุดเมื่อมีลูกค้าที่ซื้อเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงกว่าทองยี่ห้อนี้ได้ไปร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับมาตรฐานของสินค้า โดยในช่วงแรกๆ บริษัทยังคงยืนกรานเสียงแข็งว่าสินค้าตนเป็นสินค้าที่นำเข้าทั้งหมด ก่อนที่จะออกมายอมรับและขอโทษลูกค้าแล้วในหลายวันต่อมาหลังจากนั้น

จากการตรวจสอบของสำนักงานบริหารอุตสาหกรรมและพาณิชย์ (State Administration for Industry and Commerce) นครเซี่ยงไฮ้ พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 เฟอร์นิเจอร์นำเข้าประมาณร้อยละ 10 ของดาวินชี่ แท้จริงแล้วเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตในประเทศ โดยเทคนิคของดาวินชี่คือ นำเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตแถวเมืองตงก่วนส่งออกทางท่าเรือเมืองเซินเจิ้นไปยังประเทศสหรัฐฯ หรืออิตาลี จากนั้นก็นำเฟอร์นิเจอร์ชุดดังกล่าววนส่งกลับเข้ามาในจีนใหม่ผ่านทางท่าเรือเซี่ยงไฮ้ หรือบางครั้งก็ทำเป็นส่งสินค้าออกผ่านเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนไว่เกาเฉียว โดยที่ในความเป็นจริงสินค้ามิได้ออกจากอาณาเขตประเทศจีน เทคนิคเหล่านี้ทำให้สินค้าดังกล่าวของดาวินชี่ได้ชื่อว่าเป็นสินค้านำเข้า ราคาขายจึงเพิ่มจากที่ซื้อจากโรงงานผลิตในจีนเพียงไม่กี่ 1,000 หยวน เป็นหลัก 10,000 หรือ 100,000 หยวน ทีเดียว


ทางการจีนตรวจสอบคุณภาพสินค้าของดาวินชี่


นอกจากการเพิ่มราคาขายเป็นหลายเท่าตัวแล้ว วิธีการดังกล่าวยังทำให้สินค้าส่งออกจากจีนของดาวินชี่ได้รับประโยชน์จากการขอคืนภาษีส่งออกซึ่งแหล่งข่าวคาดว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 36 ล้านหยวน จากยอดขายทั้งหมด 4,000 ล้านหยวนในปี 2553 ด้วย ส่วนการกระทำดังกล่าวถือว่าผิดกฏหมายจีนหรือไม่นั้น นายจู ฉางหลิง ผู้อำนวยการสมาคมเฟอร์นิเจอร์จีน กล่าวว่า สินค้ายี่ห้อต่างประเทศสามารถผลิต ณ ประเทศใดก็ได้ แต่ต้องระบุสถานที่ผลิต ส่วนกรณีที่ผลิตในประเทศแล้วส่งออก จากนั้นนำเข้ามาใหม่ ไม่ถือว่าผิดกฏหมายเพราะมิได้ขัดต่อกฏหมายใดๆ พร้อมทั้งยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันไม่ใช่แค่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เท่านั้นที่กระทำเช่นนี้ ธุรกิจอื่นๆ ก็ใช้เทคนิคนี้เช่นกัน

เศรษฐีจีนเห่อของนอก “รู้เขาหลอก ก็เต็มใจให้หลอก”
ที่แปลกแต่จริงก็คือ ดาวินชี่หลอกผู้บริโภคด้วยเทคนิคนี้มาไม่ต่ำกว่า 6 ปีแล้ว เพราะเมื่อ 6 ปีก่อนดาวินชี่ก็เคยถูกหนังสือพิมพ์ BEIJING BUSINESS TODAY แฉวิธีการดังกล่าวแล้ว แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากสังคมเท่าไหร่ ทำให้ดาวินชี่ยังคงสามารถทำธุรกิจกำไรงามนี้ได้ต่อไปได้อย่างสบาย! นักวิชาการและผู้ที่อยู่ในวงการเฟอร์นิเจอร์ต่างออกมาวิพาษ์วิจารณ์และให้คำตอบต่อปรากฏการณ์สังคมอันน่าพิศวงนี้ว่า

- เพราะดาวินชี่ได้ใช้หลักจิตวิทยาในการสร้างสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง (ที่ไม่ใช่กลุ่มเล็กๆ ในจีนในปัจจุบัน) ที่ต้องการซื้อ “ของแพงที่สุด” ไม่ใช่ซื้อ “ของดีที่สุด”
- นอกจากนี้ ยังมีผู้บริโภคที่ร่ำรวยขึ้นมาในยุคนี้ซึ่งมีทัศนคติต่อการบริโภคว่า หากได้ใช้เงินซื้อของแพงๆ แล้ว จึงจะสบายใจและพึงพอใจ
- ในส่วนของสมาคมของแต่งบ้านแห่งชาติจีน สมทบว่า ดาวินชี่รู้ถึงจุดอ่อนของคนจีนกลุ่มใหม่ที่เมื่อเพิ่งร่ำรวย ก็ต้องการอวดรวยด้วยการซื้อของแพงและมีรสนิยมใช้ของนอกมาเป็นช่องทางทำธุรกิจ
- อีกทั้งยังมีประเด็นเกี่ยวกับความไม่เชื่อมั่นในคุณภาพของยี่ห้อสินค้าในประเทศของผู้บริโภคจีนด้วย


เฟอร์นิเจอร์สไตล์ตะวันตกที่ดาวินชี่อ้างว่านำเข้าจากอิตาลี

ค่านิยมเห่อของนำเข้าของคนจีนยังเข้มข้นถึงขนาดที่ทำให้กระทรวงพาณิชย์จีนออกแรงผลักดันให้คณะรัฐมนตรีจีนพิจารณาอนุมัติปรับลดภาษีสินค้านำเข้า เพื่อหวังกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้คึกคักยิ่งขึ้น แสดงถึงบทบาทของสินค้านำเข้าที่มีอิทธิพลในสังคมจีนไม่น้อย อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวของกระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่ารัฐจะเสียรายได้

ข้อมูลเศรษฐีในจีน
แล้วผู้บริโภคจีนที่ทั้งเพิ่งรวยและรวยอยู่แล้วในจีน มีจำนวนเท่าไร? นิตยสาร Forbes China เปิดเผยในรายงาน China Private Wealth Report ว่า ปี 2553 เศรษฐีจีนที่มีสินทรัพย์มากกว่า 10 ล้านหยวน มีจำนวนถึง 383,000 ราย ซึ่งเมื่อนำสินทรัพย์ของเศรษฐีเหล่านี้มารวมกันจะมีจำนวนถึงร้อยละ 22.4 ของมูลค่าสินทรัพย์ของทั้งประเทศ! ส่วนใหญ่เป็นคนที่เกิดในช่วงปีค.ศ. 1960-1979 และมีคนที่เกิดในช่วงปี 1980-1989 คิดเป็นร้อยละ 11.8 โดยเศรษฐีเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของธุรกิจด้านการผลิตและการค้า รองลงมาได้แก่ผู้ที่อยู่ในธุรกิจการเงิน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตามลำดับ ดังนั้นหากดูจากประเภทธุรกิจ จึงเดาได้ไม่ยากว่า เศรษฐีเหล่านี้ส่วนใหญ่ (เกือบ 80,000 ราย) อยู่ในมณฑลกวางตุ้ง รองลงมา (40,000 ราย) มาจากมณฑลเจ้อเจียง ส่วนที่เหลืออยู่ในมณฑลเจียงซู กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลฝูเจี้ยน


หน้าตาเศรษฐีจีน

ดูอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของจีน...มองหาโอกาสให้เฟอร์นิเจอร์ไทย
จีนเป็นประเทศผลิตและส่งออกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของโลก เมื่อปี 2549 มูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของจีนได้แซงหน้าอิตาลี กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก ปี 2553 จีนส่งออกเฟอร์นิเจอร์เป็นมูลค่า 33,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 30 ของมูลค่านำเข้า-ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของทั้งโลก โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 62 ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น
ปัจจุบันจีนมีธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์ราว 60,000 กว่าราย มีการจ้างงานในธุรกิจดังกล่าวกว่า 5 ล้านคน แหล่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดของจีนอยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง โดยมีมูลค่าถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าการผลิตของทั้งประเทศ และเฟอร์นิเจอร์ที่ส่งออกของจีนเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากกวางตุ้งเป็นมูลค่าถึงร้อยละ 35 แหล่งผลิตใหญ่อันดับ 2 ของจีนคือมณฑลเจ้อเจียง มีมูลค่าการผลิตประมาณร้อยละ 20 ของทั้งประเทศ และมีมูลค่าส่งออกคิดเป็นร้อยละ 17 ของทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีมณฑลอื่นๆ ที่สร้างฐานผลิตเฟอร์นิเจอร์เช่นกัน เช่นมณฑลเสฉวน แต่ยังนับว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับ 2 แหล่งนี้

ขณะที่หากเปรียบเทียบกับมูลค่านำเข้าแล้วถือว่ามีสัดส่วนที่ต่างกันมาก กล่าวคือ ปี 2553 จีนนำเข้าเฟอร์นิเจอร์เป็นมูลค่าเพียง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในนำจำนวนดังกล่าวยังนับรวมถึงเก้าอี้ที่ใช้ในทางการแพทย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย ดังนั้นส่วนที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่นำเข้าป้อนตลาดผู้บริโภคจริงจึงถือว่ามีจำนวนที่ไม่สูงมาก เนื่องจากตลาดผู้บริโภคในส่วนนี้ยังจำกัดอยู่ในกลุ่ม Niche Market เท่านั้น และต้นทุนแรงงานจากต่างประเทศที่ผ่านมาอยู่ในอัตราที่สูงกว่าจีน อีกทั้งยังมีต้นทุนด้านค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายในการขึ้นห้างสรรพสินค้าวางจำหน่ายด้วย

แม้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์จีนจะถูกนโยบายมหภาคบังคับให้ต้องปรับยกระดับอุตสาหกรรมและพัฒนาไปสู่คุณภาพที่สูงขึ้น แต่ในสภาพปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้ของจีนก็กำลังพบกับอุปสรรคหลายด้าน ทั้งด้านขาดแคลนแรงงานคุณภาพ และต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ธุรกิจส่วนใหญ่ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ต้นทุนสูง อีกทั้งยังเจอพิษเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ต้นทุนพลังงานล้วนเพิ่มขึ้น
ดังนั้น หากดูจากกรณีตัวอย่างของดาวินชี่ที่แสดงให้เห็นถึงรสนิยมความต้องการซื้อสินค้าต่างชาติ ผนวกกับองค์ประกอบเรื่องคนจีนขาดความเชื่อมั่นต่อสินค้าในประเทศตนเอง ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ยิ่งสร้างความรู้สึกในแง่ลบแก่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ในประเทศเพิ่มขึ้น ผนวกกับความไม่พร้อมของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จีนส่วนใหญ่ ทำให้สินค้าเฟอร์นิเจอร์และของใช้ตกแต่งบ้านของไทยน่าจะยังมีโอกาสที่ไม่น่ามองข้ามในตลาดนี้ โดยหากพิจารณาจากด้านขนาดตลาดประกอบด้วยแล้ว Niche Market ของจีนก็ยังมีขนาดที่น่าสนใจไม่น้อย
หนังสือพิมพ์ซินหัวของจีนรายงานว่า ในความคิดของผู้บริโภคจีนแล้ว สินค้านำเข้าย่อมดีกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ ไม่ว่าสินค้านั้นจะผลิตมาจากยุโรปหรือไทยหรือเวียดนามก็ตาม จึงเห็นได้ว่าสินค้าไทยในสายตาชาวจีนถือเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานและน่าเชื่อถือกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศตัวเอง


เฟอร์นิเจอร์เก๋ๆ ของไทยที่น่าจะโดนใจคนจีน

ข่าวฮือฮาของดาวินชี่นี้คงทำให้ผู้บริโภคจีนสนใจในเรื่องวัสดุและคุณภาพของสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ทัศนคติความนิยมของนอกคงจะไม่เปลี่ยนแปลงไป แต่นับวันจะมีมากขึ้น ขณะเดียวกันหากสินค้าไทยสามารถจับจุดผู้บริโภคระดับเศรษฐีเหล่านี้ได้ด้วยแล้ว ก็น่าจะมีโอกาสเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น เช่น การหันไปชูจุดเด่นเรื่องวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่พูดถึงมากทั่วโลก เพิ่มเติมจากดีไซด์และความทันสมัย ทำให้บรรดาเศรษฐีจีนทั้งหลายก็พยายามที่จะใช้สินค้าที่กำลังเป็นที่นิยมตามกระแสสังคมเช่นกัน นอกจากนี้ ยังอาจใช้จุดเด่นด้านวัสดุธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย และเทคนิคงาน hand made ที่ยากต่อการปลอมแปลงในการช่วยเพิ่มมูลค่า ซึ่งไม่เพียงแต่สินค้าเฟอร์นิเจอร์เท่านั้น สินค้าแฟชั่นอื่นๆ ของไทยก็สามารถจับจุดผู้บริโภคของจีนนี้มาใช้ในการสร้างกลยุทธ์รุกตลาดจีนได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันก็มีสินค้าแฟชั่นไทยบางยี่ห้อที่แม้จะยังไม่ได้เข้ามาในจีนก็เป็นที่รู้จักของสาวๆ จีนแล้ว จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสินค้าแฟชั่นแบรนด์ไทยจะเป็นที่ “เห่อ” ของผู้บริโภคจีนได้หลายๆ แบรนด์ในอนาคตอันไม่ไกลนี้.

ที่มา :  จับจุดเศรษฐีจีนเห่อของนำเข้า สร้างโอกาสให้สินค้าไทย
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=616&ID=8242

เทคนิคการขายสินค้าในจีน

เทคนิคการขายสินค้าในจีน ที่ SMEs ไทยมือใหม่ควรรู้

คุณคิดว่า “กระเทียมเจียวทอดกรอบ” จะขายในจีนได้หรือไม่ หลายคนคิดคล้ายกันคือ จะขายได้หรอ??? บางคนก็ว่า ขายไม่ได้หรอกพี่ จะขนมาขายทำไม คนจีนเขาไม่กินกัน กินแต่กระเทียมในน้ำมัน กระเทียมทอดกรอบโรยหน้าบนอาหารแทบไม่เคยเห็น แต่เจ้าของ OTOP รายหนึ่งบอกกับ BIC ในงานเทศกาลไทย ณ นครคุนหมิง ว่า “เอามาลองดู ขายได้ไม่ได้ไม่เป็นไร” ผ่านไปสองวัน เรากลับไปดูอีกครั้ง ยังคงเห็นกระเทียมเจียวทอดกรอบบรรจุขวดวางอยู่ด้วยปริมาณเท่าเดิม “ยังขายไม่ได้สักกระป๋อง” เจ้าของพูดอย่างขำ ๆ เราเองก็สงสัย บรรจุภัณฑ์สีสันสวยงาม สะอาดตา ฝาปิดมิดชิด แถมมีพลาสติกใสหุ้มอีกรอบ เรื่องรูปลักษณ์ภายนอกไม่ต้องพูดถึง มันดูดีมากเมื่อเทียบกับชนิดแพคถุงที่ขายตามตลาดทั่วไป ตัวกระเทียมเจียวภายในกระป๋อง ถูกฝานเป็นชิ้นด้วยขนาดที่ใกล้เคียงกัน ไม่มีเศษชิ้นเล็ก ๆ หรือน้ำมันเยิ้มให้เห็น “ทำไมขายไม่ได้ หน้าตาผลิตภัณฑ์ก็ดูดี หรือว่าคนจีนไม่กินกระเทียมเจียวทอดกรอบ” พวกเราจับกลุ่มนั่งวิจารณ์กันภายในบูธ

ลูกค้าจีนคนหนึ่ง เดินมาที่บูธ จับกระป๋องกระเทียมเจียว แล้วถามว่า “นี่คืออะไร” “ชิมได้ไหม” ชิมเสร็จ ซื้อไปหนึ่งกระป๋อง พร้อมเสียงเชียร์ของคนไทย “เย้ ตีไข่แตก” วันรุ่งขึ้น เรากลับไปถามใหม่ เจ้าของตอบว่า “ขายหมดแล้ว มีลูกค้ามาลองชิม และเหมายกลังไปหมดเลย… !!!” ถือว่าเจ้าของร้านมีไหวพริบ รู้จักสังเกต เปิดให้ลูกค้าลองชิม จึงได้ขนเงินกลับบ้าน แทนการขนของ

เทคนิคการขายสินค้าในจีน ช่วงระยะทดลองตลาด

จากการที่กลุ่ม OTOP นำสินค้าบุกตลาดคุนหมิงในงานเทศกาลไทยถึง 2 ครั้ง ทำให้เราเห็นว่า นอกจากตัวสินค้าที่มีคุณภาพ และบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้สินค้าเหล่านั้นขายได้ในประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นสินค้าใหม่ และอยากทดลองตลาดจีน จำเป็นต้องผนึกกำลังภายใน และงัดทุกกลยุทธ์มาใช้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ตัวสินค้าเข้าถึงผู้บริโภคได้เร็วที่สุด

- การให้ข้อมูลสินค้าที่เป็นภาษาจีนและให้ทดลอง เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ควรให้รายละเอียดทั้งตัวสินค้า และตัวผู้ผลิต ตัวผลิตภัณฑ์ควรติดป้ายชื่อและมีคำอธิบายให้ชัดเจน สินค้าประเภทอาหาร สำคัญที่สุดคือ การให้ชิม รสชาติถูกปากถูกใจ ผู้ใหญ่ไม่ชิม เด็กชิม เด็กก็ร้องให้ผู้ใหญ่ซื้อ สินค้าบำรุงสุขภาพ พืชสมุนไพร และออร์กานิกปลอดสารพิษ เป็นสินค้าดาวรุ่งมาแรง หรือสินค้าประเภทช่วยบำบัดและผ่อนคลายความเครียด เช่น เครื่องหอม หมอนป้องกันไรและฝุ่นที่รองรับน้ำหนักคอได้ดี สินค้าประเภทนี้ก็กำลังได้รับความนิยม เพียงแต่ต้องเขียนบรรยายสรรพคุณสินค้าหรือสมุนไพรไทยให้คนจีนได้รู้จักมากขึ้น

ปัจจุบัน คนจีนรักสุขภาพมากขึ้น ใส่ใจและห่วงชีวิตของลูกหลาน เพราะมีลูกคนเดียว ต้องเลือกสิ่งที่ดีสุด สินค้าประเภทเสื้อผ้าหรือกระเป๋า ควรมีหุ่นใส่เสื้อผ้าโชว์สินค้า ลูกค้าจะชอบมากกว่าแขวนหรือพับวางโชว์ไว้ และควรมีกระจกให้ลูกค้าส่อง สินค้าสปาที่มีความหอมก็ควรมีตัวทดลองเปิดให้ลูกค้าดม น้ำมันนวดต่าง ๆ ก็ทดลองนวดให้ลูกค้า อาจจะมองว่าเสียเวลา แต่ยิ่งคิวแน่น ยิ่งขายดี อัญมณีและเครื่องประดับ ควรมีตู้กระจกใส่สินค้า (ป้องกันการขโมยไปด้วยในตัว) ที่สำคัญต้องมีไฟส่อง เพื่อให้เกิดความแวววาวเตะตาลูกค้า รวมถึงมีใบประกันคุณภาพพร้อมสรรพ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ

- สำหรับผู้ผลิต นามบัตรและโบรชัวร์สินค้าเป็นสิ่งสำคัญมาก บ่อยครั้งที่ผู้ประกอบการไม่นิยมพกพา และหลายครั้งเช่นกันที่ทำให้พลาดโอกาสทางธุรกิจ นามบัตรหรือโบรชัวร์เปรียบเสมือนการเชื้อเชิญให้เริ่มต้นและมีเนื้อหาในการสนทนาต่อกัน และเปรียบประดุจบัตรเชิญลูกค้าให้เดินทางมาหาผู้ประกอบการหลังหมดช่วงทดลองตลาด นามบัตรจึงควรให้ข้อมูลผู้ผลิต สถานที่ผลิต เบอร์โทรติดต่อทั้งที่ไทยและที่จีน อีเมล์และเว็บไซต์ เป็นต้น ส่วนโบรชัวร์ก็เพิ่มรายละเอียดสินค้า เรื่องราวของสินค้าที่เด่น ๆ และน่าสนใจ

สินค้าที่ขายดีทุกปี นอกจากผลไม้และอาหารไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนจีนทั่วไปแล้ว สินค้าแปลกใหม่ ประเภทที่จีนไม่มีหรือไม่ได้ผลิต เช่น ดินหรือแป้งปั้นจิ๋วแบบไทย ๆ เสื้อผ้าเด็กที่ตัดจากผ้าขาวม้า และกรอบรูปใบไม้สีทอง ก็ล้วนมียอดจำหน่ายที่ดีอย่างคาดไม่ถึง สินค้าที่บอกเล่าเรื่องราว (story) หรือมีที่มาที่ไป เช่น ทำกันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ จำหน่ายมานานกว่า 30 ปี มีภาพดาราไทยถ่ายคู่กับเจ้าของประมาณว่าเคยซื้อหรือเคยใช้ เรื่องราวเหล่านี้ก็ทำให้ลูกค้าชื่นชอบเช่นกัน เพราะปัจจุบัน คนจีนรู้จักดาราไทยผ่านละครไทยบนอินเตอร์เน็ตไม่น้อยเลยทีเดียว

รู้พฤติกรรมผู้บริโภค ประยุกต์ใช้เทคนิคการขายได้ง่ายขึ้น

มีผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “หนึ่งมณฑลของจีน เทียบเท่าหนึ่งประเทศ” หากอยากจะขายสินค้าที่จีนในมณฑลไหน จำเป็นต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของมณฑลนั้นเสียก่อน วันนี้ BIC มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของพฤติกรรมผู้บริโภคชาวคุนหมิง จากการสังเกตการณ์ผ่านงานเทศกาลไทยมาเล่าสู่กันฟัง

- คนคุนหมิงชอบของทำสด หรือทำให้เห็น ผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องปรุงรสต้มยำกุ้ง กะทิกล่องสำเร็จรูป น้ำปลา และผัดไทเส้นจันท์ สินค้าประเภทนี้ต้องสาธิตการทำให้ดูและสอนวิธีใช้ให้เห็นกับตา เช่น เอาเครื่องต้มยำกุ้งมาทำต้มยำให้หอมฟุ้งไปทั้งงาน ส่วนเส้นจันท์พร้อมน้ำปรุงรสผัดไทย หากวางขายแบบธรรมดา ๆ แม้จะให้ข้อมูลและรายละเอียดมากมายเป็นภาษาจีน ก็คงขายไม่ออก ได้แต่นั่งมองดูบูธอื่นที่ขายดีกว่า เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ก็คงคิดว่าเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวของจีนด้วยซ้ำไป แต่พอฉีกห่อ ผัดใส่กล่องขาย เติมเต้าหู้ เพิ่มไข่ ใส่ผัก ขายดีจนผัดกันแทบไม่ทัน โดยเฉพาะตอนมื้อกลางวันและเย็น ต้องแนะนำให้ทำบัตรคิวกันเลยทีเดียว กลายเป็นอาหารที่เส้นแบบจีนแต่รสชาติสไตล์ไทย ลูกค้ากลับให้ความสนใจ แถมยังขายได้ทั้งชนิดผัดแล้วและยังไม่ได้ผัด

- พฤติกรรมชอบมุง ยิ่งมุงยิ่งขายดี การมุงเกิดจากความอยากรู้อยากเห็น อยากรู้ว่ามุงดูอะไร ซื้อตาม ๆ กันบ้าง จะได้ไม่ล้าสมัย เวลาออกบูธ หากมีพนักงานขายจำนวนมาก ลองให้มายื่นหน้าร้าน มอง ๆ จับ ๆ สินค้า เสมือนเป็นลูกค้า อาจจะพบกับพฤติกรรมคล้าย “ไทยมุง” สินค้าจะขายดีขึ้นมาทันที

- กล้าซื้อ-กล้าลองมากขึ้นอย่างที่รู้ ๆ กัน มณฑลทางภาคตะวันตกของจีนมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชากรมีกำลังซื้อสูงขึ้น ขอแค่ถูกอกถูกใจ สินค้าคุณภาพดี คนคุนหมิงที่มีฐานะก็พร้อมที่จะจับจ่าย รวมไปถึงการเข้าสู่ยุคเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและโลกออนไลน์ ทำให้เปิดรับเอาข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ชาวจีนมีความคิดที่เปิดรับ กล้าลองสินค้าใหม่ ๆ

- ชาวคุนหมิงคุ้นเคยกับคนจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเปิดใจรับวัฒนธรรมและอาหารการกินของคนในประเทศเหล่านั้นมากขึ้น กระแสไทยก็มาแรง ทั้งจากภาพยนตร์ ละคร และการเดินทางไปเที่ยวด้วยตัวเองรวมถึงนักศึกษาไทยที่เดินทางไปเรียนในคุนหมิงก็มีจำนวนไม่น้อย ขณะเดียวกัน คนจีนที่เรียนภาษาไทยก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี

 “อาหารไทยตอไม้เท้าไก่” แบบเรียนที่ผู้ประกอบการไทยควรรู้

จากการสำรวจซอยเหวินฮั่วเซี่ยง (文化巷) และถนนหยวนซีลู่ (园西路) ในตัวเมืองนครคุนหมิง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นักศึกษาและคนทำงานนิยมไปเดินเล่น ซื้อของ และทานอาหาร โดยเฉพาะในช่วงค่ำคนจะเยอะเป็นพิเศษ BIC พบว่า ไม่กี่เดือนมานี้ สองข้างทางของถนนมีร้านอาหารที่ขายของเลียนแบบไทยและขึ้นป้ายภาษาไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านที่มีชื่อว่า “ขนมหวานไทย” ที่ขายขนมหวานหน้าตาคล้าย ๆ รวมมิตรบ้านเรา แต่ถูกดัดแปลง โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น และร้านอาหาร “สุขอร่อย” ที่เป็นอาหารจานด่วนดัดแปลงกึ่งไทยกึ่งจีน แต่ที่เด็ดสุด ๆ เห็นจะเป็นร้าน “อาหารไทยตอไม้เท้าไก่” ซึ่งจำหน่าย “ยำเล็บมือนาง” ของไทย ซึ่งเป็นอาหารที่ผสมผสานระหว่างส้มตำของไทยกับตีนไก่ อาหารโปรดของชาวจีน ออกมาเป็นยำตีนไก่ที่ถูกใจสาวจีน เพราะนอกจากรสชาติจะเปรี้ยว ๆ เผ็ด ๆ แซ่บถูกปาก ยังเชื่อว่ามีคอลลาเจนสูง บำรุงผิวพรรณอีกด้วย สาว ๆ กินไป พูดคุยกันไป กินเป็นมื้อเย็นถูกใจไม่อ้วน อาหารชนิดนี้จึงมีขายตามสองข้างทางถนนของซอยเหวินฮั่วเซี่ยงและหยวนซีลู่จำนวนมาก แต่เราคงไม่ได้สนใจมอง หากคนขายชาวจีนจะไม่ใช่ “ครก” แบบไทยมาตำตีนไก่ ทำให้ถึงบางอ้อ ที่แท้ตอไม้ หมายถึง “สาก” นั่นเอง

กระแสส้มตำตีนไก่ และป้ายชื่อภาษาไทย ล้วนชี้ให้เห็นว่า “ของไทย ขายได้” กระแสไทยมาแรง คนจีนเชื่อมั่นในสินค้าไทย เลยนำมาประยุกต์ ดัดแปลง ลอกเลียนแบบ เพื่อให้...ขายได้

หากผู้ประกอบการ SMEs และนักธุรกิจไทยคิดจะบุกตลาดคุนหมิงก็ไม่ใช่เรื่องยาก นอกเหนือจากกฎหมายและภาษาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้แล้ว การมีเทคนิคการขายที่ถูกใจผู้บริโภคจีน และการผสมผสานสินค้าของไทยให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของจีน ก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ เฉกเช่นแบบเรียน “อาหารไทยตอไม้เท้าไก่” นั่นเอง ช

ที่มา : เทคนิคการขายสินค้าในจีน ที่ SMEs ไทยมือใหม่ควรรู้
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=650&ID=14530

ธุรกิจออนไลน์จีน ตอน 3

ธุรกิจออนไลน์ ตอน 3 : ชี้ช่องเจาะตลาดออนไลน์จีน ขายตรงสู่ผู้บริโภคชาวจีนแบบง่ายๆ


โอกาสร้อง เฮ! มาถึงแล้ว คุณรู้หรือไม่ว่า ไม่จำเป็นต้องมาตั้งบริษัทให้วุ่นวายในเมืองจีน ก็สามารถขายตรงส่งของจากไทยได้ วันนี้ BIC Shanghai มีข้อมูลดีๆ สำหรับผู้ประกอบการน้อยใหญ่ที่จะขายตรงมายังตลาดจีนโดยไม่ต้องผ่านนายหน้าให้กระทบต้นทุนโดยไม่จำเป็น แถมสามารถขายสินค้าแบบ “Low Cost High Profit” กันไปเลย ว้าว!


1. ตลาดออนไลน์ที่โดดเด่นในจีนมีอะไรบ้าง

1.1 ตลาดออนไลน์ที่นำทัพโดยบริษัท Alibaba
(1) Taobao.com เป็นตลาดออนไลน์สินค้าระหว่างบุคคล (Customer-to-Customer : C2C) ผู้ขายไม่ต้องเปิดเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลก็ขายได้ จะเป็นคนจีนหรือคนต่างชาติ ก็มีสิทธิ์เปิดร้านค้าอย่างเสรี (อ่านรายละเอียดการเปิดร้าน) แถมยังเชื่อมโยงฐานสินค้ากับตลาด Tmall.com อีกด้วย
(2) TMALL.com เป็นตลาดสินค้าระหว่างตัวแทนขายของบริษัท(Distributor) และบุคคล ซึ่งจะอนุญาตให้บริษัทที่มีใบอนุญาตจากผู้ผลิตขายสินค้าบนตลาด TMALL ส่งผลให้ผู้ซื้อเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น เนื่องจากสามารถติดตามบริการหลังการขายจากบริษัทได้ดีกว่า การซื้อสินค้าจากบุคคลผ่าน Taobao อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อสินค้าหากค้นหาสินค้าจาก Taobao  ก็จะค้นพบสินค้าบนตลาด TMALL ได้เช่นกัน

1.2 ตลาดออนไลน์คู่แข่งสำคัญของ Alibaba
(1) Jing Dong เป็นตลาดสินค้าออนไลน์ ซึ่งขายสินค้าไม่ต่างจาก TMALL เลย จะเรียกว่าเป็นคู่แข่งหลักเลยก็ว่าได้ ต่างกันที่ Jing Dong เป็นผู้ผลิตมาขายสินค้าโดยตรงกับลูกค้า (B2C) บางทีราคาสินค้าบางประเภทอาจจะสู้ TMALL ไม่ได้เพราะ ทางผู้ผลิตไม่ได้ทำการตลาดสินค้าโดยตรง และไม่มีนโยบายไปทำตลาดแข่งกับ Distributor ของตัวเอง
(2) Su Ning Yi Gou เป็นตลาดสินค้าระหว่างบริษัทและบุคคล (B2C) เหมือนกับ Jing Dong โดยมีห้างสรรพสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า Su Ning เป็นผู้ก่อตั้งตลาดออนไลน์นี้

1.3 ตลาดออนไลน์เฉพาะทาง
(1) Ding Dang เป็นตลาดสินค้าออนไลน์ที่เน้นเฉพาะตำราเรียน หนังสือทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นในหรือต่างประเทศ ราคามักถูกกว่าร้านหนังสือเสียอีก จนทำให้ร้านหนังสือในจีนหลายรายระส่ำระส่ายไปตามๆ กัน
(2) Yi Guo เป็นตลาดอาหารสดสินค้าทั้งในและต่างชาติ ให้บริการขนส่งทั่วประเทศจีน แต่ด้วยการเป็นสินค้าอาหารสด อาหารบางชนิดจะจำกัดสถานที่จัดส่งในพื้นที่ที่อยู่ในเขต เพื่อให้ได้สินค้าสดใหม่และได้รับสินค้าภายใน 2 วัน

1.4 ตลาดออนไลน์ต่างประเทศที่รุกตลาดจีน
(1) Amazon เป็นตลาดสินค้าต่างประเทศ ที่นักช็อปออนไลน์จีนสามารถเข้าไปซื้อได้ง่ายขึ้น เพราะเข้าถึงแหล่งสินค้าได้จากทั่วโลก ปัจจุบัน Amazon มีคลังสินค้าที่เขตทดลองการค้าเสรีนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Pilot Free Trade Zone) เมื่อมีการซื้อสินค้า ทาง Amazon ก็สามารถส่งของให้ผู้รับได้เลยไม่ต้องรอนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการขนส่งสินค้ามากขึ้น


2. ช่องทางการขายสินค้าไทย ถึงมือผู้รับจีนโดยตรง

ปัจจุบันสินค้าต่างประเทศมากมายเข้ามาตีตลาดจีนโดยผ่านช่องทางต่างๆ แต่วันนี้ BIC จะแนะนำช่องทางการขายสินค้าไทย เพื่อเข้าตีตลาดจีนแบบง่ายที่สุด! ทางเราขอแนะนำให้ทำการเปิดร้านค้าออนไลน์ของตัวเองบนเว็บไซด์ TMALL Global  ซึ่งเป็นตลาดที่ TMALL เปิดเป็นเวทีให้ ผู้ประกอบการต่างประเทศสามารถส่งสินค้าข้ามประเทศ ถึงมือลูกค้าในจีนได้โดยตรง อีกทั้งในระหว่างที่ลูกค้าค้นหาสินค้าในเว็บ Taobao ลูกค้าก็สามารถเห็นสินค้าของเราในตลาด TMALL Global ได้อีกด้วย ดังนั้นโอกาสที่ลูกค้าจีนจะเห็นสินค้าของเราย่อมมีมากขึ้น ต่อไปนี้จะขอแนะนำวิธีการจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์บนเว็บ TMALL Global กัน!
 
(ตัวอย่างสินค้าจากผู้ประกอบการต่างประเทศที่ขายใน TMALL International)

2.1 ถ้าอยากขายใน TMALL Globalบ้าง ต้องทำอย่างไร?
(1) คุณสมบัติพื้นฐาน



ผู้ประกอบการต่างประเทศต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้
* เป็นบริษัทจัดตั้งนอกประเทศจีน
* มีใบอนุญาตประกอบการค้าหรือใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดจำหน่าย จากผู้ผลิต
* เป็นบริษัทที่มีร้านในประเทศของตนเองและไม่เคยมีร้านอย่างเป็นทางการในจีนมาก่อน
* ต้องมี Customer Service ที่รู้ภาษาจีน เพื่อช่วยเหลือลูกค้า ในช่วงเวลาเปิดทำการ
* สามารถรับคืนสินค้าในจีนได้ หากลูกค้าประสงค์คืนสินค้า
* สามารถส่งสินค้าตรงจากต่างประเทศถึงลูกค้าในจีน


 (2) ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง


* ค่าประกันแรกเข้า 25,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งจ่ายเพียงครั้งเดียว
* ค่าธรรมเนียมรายปี 5,000 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการ
* ค่าคอมมิสชั่น 0.5-5% (ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า) พร้อมกับค่าธรมเนียมในการโอนเงินผ่าน Alipay 1%

(3) ขั้นตอนการลงทะเบียน


1. ทำการดาวน์โหลดแบบฟอร์ม (คลิก) กรอกแบบฟอร์ม แล้วส่งแบบฟอร์มทางเมลล์ไปที่ tmallglobal@service.alibaba.com
2. รอการอนุมัติ ปกติไม่เกิน 10 วันทำการ
3. ทำการลงทะเบียน Alipay แบบบัญชีธุรกิจต่างประเทศ (คลิก) ใช้ระยะเวลาราว 10 วันทำการ
4. เซ็นสัญญา แล้วเสร็จใช้เวลาราว 10 วันทำการ
รวมระยะเวลาทุกกระบวนการแล้วไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ท่านสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่
 
การเปิดสินค้าบนตลาดออนไลน์ต้องใช้ความสามารถในการบริหารร้านค้าอย่างยอดเยี่ยม และต้องมีความอดทนต่อลูกค้าสูง ตลาดสินค้าไทยยังมีพื้นที่อีกมากในจีน อย่าปล่อยให้ตลาดต่างชาติรุกคืบตลาดจีนอย่างเดียว!

บทความต่อไปจะขอแนะนำวิธีการจำหน่ายครีมบำรุงผิวบนตลาดออนไลน์มาให้ติดตามกัน!



ที่มา : ธุรกิจออนไลน์ (3) : ชี้ช่องเจาะตลาดออนไลน์จีน ขายตรงสู่ผู้บริโภคชาวจีนแบบง่ายๆ
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=650&ID=15854

ธุรกิจออนไลน์จีน ตอน 2  

ธุรกิจออนไลน์ ตอน 2  : ชี้ช่องเจาะตลาดออนไลน์จีน 
กลยุทธ์บุกตลาดออนไลน์จีน

หลังจากที่เราทราบวิธีการจัดการกระบวนการนำเข้าแล้ว ทีนี้เรามารู้จักกลยุทธ์บุกตลาดจีนกันดีกว่า สินค้ามากมายในตลาดออนไลน์จีน บ้างก็ดังเป็นพลุแตก บ้างก็ดับไปในความมืด เป็นเพราะอะไร? ส่วนมากแล้วในตลาดออนไลน์จีนมีสิ่งที่สำคัญที่ต้องระมัดระวัง ในกลยุทธ์จำหน่ายสินค้า โดยมีปัจจัยดังต่อไปนี้



1) คำค้นหา ต้องตรง ปัจจุบันเวลาชาวจีนจะซื้อสินค้าใดสินค้าหนึ่ง มักจะเลือกคำค้นหาที่ง่ายและกระชับ หรือบางทีหากเขาไม่รู้ชื่อสินค้านั้นๆ เขามักจะใช้คำกว้างๆ ที่อยู่ในหมวดหมู่ของสินค้านั้นๆ ยกตัวอย่าง เช่น หากลูกค้าต้องการซื้อครีมบำรุงจากไทย แต่ลูกค้ายังไม่ได้กำหนดในใจว่า เป็นยี่ห้ออะไร ลูกค้าจะใช้ค้นหาง่ายๆ อย่างเช่น “ครีม นำเข้า ประเทศไทย” “ครีมหอยทาก” หรือ “ครีมหน้าขาว” เป็นต้น ซึ่งคำค้นหาเหล่านี้ เราจำเป็นต้องระบุลงไปในชื่อสินค้าของเราเช่นกัน เพราะอะไร? เพราะถ้าเราไม่ระบุ เขาอาจจะหาสินค้าไม่เจอ บางทีการค้นหาอย่างเช่น “นำเข้า ประเทศไทย” มีมากกว่า 100 หน้า และใน 1 หน้ามีสินค้ากว่า 40 รายการจากแต่ละผู้ขาย ซึ่งคงไม่มีใครอยากจะไล่เรียงค้นหาสินค้าจนถึงเจอสินค้าเราหรอก จริงไหม?!

2) ลงโฆษณาให้ สินค้าเด้งมาอยู่แนวหน้า ปัจจุบันลูกค้าส่วนมากจะหาสินค้าโดย ยึดจากปัจจัยไม่กี่อย่าง เช่น ภาพรวม ความสนใจของผู้ซื้อส่วนใหญ่ ยอดจำหน่าย ความน่าเชื่อถือ ราคา รวมไปถึง แหล่งจัดส่งในพื้นที่ผู้ซื้อ ฟรีค่าจัดส่ง เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้สินค้าที่เราอยู่อันดับต้นๆ นอกจากจะลงโฆษณากับตลาดออนไลน์นั้นๆ ทาง BIC มีบทสัมภาษณ์กับผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรงจากผู้ประสบความสำเร็จจากการลงโฆษณาขายสินค้าจาก Taobao มาให้ท่านได้ลองอ่านกัน คลิกที่นี่

3) การบริการหลังการขายเป็นเลิศ ระมัดระวังลูกค้าบ่น ลูกค้านักช็อปออนไลน์ชาวจีน นอกจากดูปัจจัยหลากหลายแล้วยังชอบที่จะดู บทวิจารณ์ในร้านต่างๆ จากลูกค้าคนอื่นอีกด้วย นั่นเพราะว่า เกรงว่าตัวเองจะเลือกซื้อสินค้าแล้วได้สินค้าที่ไม่ดี โดยปัจจัยในการให้ข้อคิดเห็นจะประกอบด้วย

3.1) สินค้าตรงกับที่บรรยายสรรพคุณไว้หรือไม่ อย่าโม้เกินสรรพคุณ อย่าตัดต่อภาพถ่ายเกินจริง เพราะมันจะกระทบกับภาพรวมของความพึงพอใจลูกค้า

3.2) บริการของฝ่ายช่วยเหลือลูกค้า การมีฝ่ายช่วยเหลือลูกค้าในเวลางาน จะช่วยให้ลูกค้าซื้อสินค้าง่ายขึ้น เพราะพวกเขามักจะถามจุกจิกในตัวสินค้า ยอมเขาหน่อย เขาจะซื้อและเป็นลูกค้าประจำในที่สุด นอกจากนี้ยังช่วยให้ลูกค้าพอใจ หากเกิดความไม่สบายใจ หรือปัญหาหลังการขาย

3.3) ความเร็วในการจัดส่งสินค้า หมายถึง เราควรส่งสินค้าในระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้ หากจะส่งสินค้าล่าช้า ก็ควรแจ้งให้ลูกค้าทราบเสียก่อน


(ร้านค้าใน Taobao กำลังจัดการนำสินค้าใส่กล่องเพื่อจัดส่งไปยังลูกค้า)

3.4) ความเร็วในการขนส่งสินค้า หมายถึง บริษัทในการจัดส่งสินค้า ทำงานได้รวดเร็วเพียงไร หากเกิดปัญหาควรให้บริษัทจัดส่งสินค้ารีบแจ้งมายังผู้ขาย เพื่อชี้แจงให้กับลูกค้าทราบต่อไป

4) ราคาสินค้าไม่แพงและไม่ถูกจนเกินไป สินค้าที่วางขายในตลาดออนไลน์ ราคาเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก เพราะชาวจีนจำนวนไม่น้อยเลย คิดเสมอว่า “ของดีไม่มีถูก ของถูกไม่มีดี” เหมือนกับคนไทยเราๆ นี่แหละ แต่ในเรื่องการตั้งราคา หากสินค้าที่เราขายมีร้านอื่นลองอยู่แล้ว เราก็สามารถลองค้นหาราคากลางได้ แล้วตั้งราคานั้นๆ แต่ถ้าจะขายแบบทุ่มตลาดไปเลย ก็ควรติดภาพโฆษณาชวนเชื่อว่าทำไมถึงขายถูกได้ขนาดนี้ เพราะขายตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง หรืออย่างไร

5) ตกแต่งในร้านให้ดูเป็นมืออาชีพ อย่าขายสินค้าโดยไม่ตกแต่งร้าน จะทำให้ลูกค้าเมินเฉยได้ง่ายๆ


(ภาพบรรยายน่าเชื่อถือ ทำให้น่าซื้อ)

6) สินค้าคุณภาพไร้ที่ติ อย่าขายสินค้าใกล้หมดอายุ เพราะหลังจากที่ลูกค้าซื้อไปแล้ว บางทีอาจจะไม่ได้ใช้ทันที พอใกล้หมดอายุแล้วถึงจะใช้ พวกเขามีสิทธ์จะ “ต่อว่าคุณในภายหลังได้” ไม่ใช่ว่าเขาซื้อแล้วจบไป มีผลอย่างมากต่อการพิจารณาของลูกค้ารายต่อไป และคำวิจารณ์นั้น ไม่สามารถลบได้นอกจากเรื่องนี้จะให้ลูกค้าเป็นคนแก้ไขเอง จากประสบการณ์โดยตรง ทางผู้ขายจะอ่อนไหวและยอมอ่อนข้อ ให้กับลูกค้าที่วิจารณ์รุนแรงพร้อมรูปถ่าย ดังนั้นผู้ที่จะต่อสู้ในตลาดนี้ได้ ต้องยอมลูกค้าไว้ และหาทางประนีประนอมจนถึงที่สุด

7) บรรจุภัณฑ์แข็งแรง ดุจกล่องสมบัติ ถ้าหากจะขายสินค้าออนไลน์แล้ว การบรรจุสินค้าให้แน่นหนามั่นคงเพื่อให้รอดพ้นจากการแตกหักเสียหายเป็นสิ่งจำเป็นมาก สินค้าที่เข้าสู่ระบบขนส่งสินค้าในจีนแล้ว จะถูกส่งต่อไปยังในศูนย์กระจายสินค้าต่างๆ ซึ่งเมื่อเข้าไปในศูนย์กระจายสินค้าแล้ว เจ้าหน้าที่หลายแห่งของบริษัทขนส่งมักจะทำการ “โยน” เพื่อแยกสินค้า ดังนั้นเพื่อให้สินค้าถึงลูกค้าปลอดภัยจึงจำเป็นต้องบรรจุให้แข็งแรง มีการห่อหลายชั้น ถ้าเป็นครีมต่างๆ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะลูกค้ามีสิทธิจะเรียกร้องความเสียหายจากผู้ซื้อได้!


(วิธีการแยกพัสดุไปยังแต่ละพื้นที่รับผิดชอบที่อาจทำให้สินค้าชำรุดได้)

8) ช่องทางโฆษณาหลากหลาย เกาะติดประเภทลูกค้า เพราะลูกค้าจำนวนมาก ก็ย่อมมีความสนใจต่างกัน เราจะต้องเลือกโฆษณาสินค้าของเราผ่านช่องทางออนไลน์หลายประเภท เช่น QQ Wechat Weibo เว็บไซต์ เป็นต้น แต่การโฆษณานั้นก็ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อยอดการสั่งซื้อมาก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าสื่อพวกนี้เพื่อค้นหาสินค้า แต่มักจะดูจากปัจจัย 7 ข้อบนเสียมากกว่า แต่การมีช่องทางโฆษณาดังกล่าวก็จะช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของร้านค้ามากขึ้น

ในปัจจุบันสินค้าไทยกำลังติดตลาดจีนหลายตัวเช่นกัน แต่จะติดตลาดมากกว่า หากสินค้าในตลาดท้องถิ่นไทย มีเอกลักษณ์ กลิ่นอายความเป็นไทย ทำตลาดได้ในประเทศจีน อีกทั้งมันจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจ SME ได้รับการพัฒนาขยายขนาดอย่างต่อเนื่องในตลาดแห่งนี้ และช่วยให้สามารถยืนยันในภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวอยู่ ในประเทศจีนซึ่งคาดว่ากำลังผ่านพ้นจุดตกต่ำของเศรษฐกิจไปแล้ว และกำลังมีเสถียรภาพในอนาคต ตลาดแห่งนี้เป็นความหวังของผู้ประกอบการไทยได้อย่างแน่นอน! ทาง BIC หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทยทุกคน และทาง BIC จะหาสาระดีๆ เกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์จีนมาเสนอในบทความต่อๆ ไป


ที่มา : ธุรกิจออนไลน์ (2) : ชี้ช่องเจาะตลาดออนไลน์จีน กลยุทธ์บุกตลาดออนไลน์จีน
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=650&ID=15434

วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธุรกิจออนไลน์จีน ตอน 1

 ธุรกิจออนไลนจีน ตอน 1: แอปพลิเคชั่นเดียว 22 ฟังก์ชั่น 
                 Alipay ตอบทุกความต้องการเรื่องเงิน

ศรษฐกิจในยุคดิจิตอลจีนปัจจุบันเติบโตและก้าวหน้าไปไกล มีช่องทางการทำธุรกิจที่เกิดขึ้นพร้อมกับความทันสมัย ไฮเทค มากมายมากมายหลายช่องทาง และคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาของเว็บไซด์ขายสินค้ายักษ์ใหญ่อย่างเถาเป่า ( 淘宝) และ Tmall ( 天猫) เพราะนอกจากจะมีทุกสิ่งให้เลือกสรรค์ในราคาที่สามารถเลือกได้แล้ว ยังมีระบบการจ่ายเงินที่สะดวกและปลอดภัย ลดความกังวลใจเรื่องปัญหาการฉ้อโกง เพิ่มความมั่นใจให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ด้วยระบบ จือฟู่เป่า ( 支付宝) หรือ Alipay นวัตกรรมการทำธุรกรรมที่บริษัท อาลีบาบา คิดค้นขึ้นมาอำนวยความสะดวกของผู้บริโภคออนไลน์

“จือฟู่เป่า” ในภาษาจีน หรือ Alipay Wallet คือระบบที่พัฒนาขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันซึ่งต้องการความสะดวก รวดเร็ว ในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยนำวิวัฒนาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโลกดิจิตอล ปรับเปลี่ยนความยุ่งยากที่เคยมีให้ง่ายขึ้น ผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน กล่าวคือ Alipay ที่กำลังเป็นที่นิยมในประเทศจีนทำหน้าที่เสมือนกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ ( e-wallet ) ที่สามารถโอนย้ายถ่ายเงินในกระเป๋าเข้าออกระหว่างกันได้อย่างเสรีและรวดเร็ว โดยผู้ใช้งานเพียงแค่นำบัตร Debit หรือ Credit Card มาผูกเข้ากับบัญชี Alipay ก็สามารถใช้งานกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ได้สบาย ทว่าไม่เพียงแค่โอนเงินเข้า หรือแค่จ่ายเงินออก แต่ Alipay ยังมีฟังก์ชั่นการใช้งานมากมายกว่าที่ท่านคิด

App เดียวตอบทุกความต้องการ ด้วย 22 ฟังก์ชั่นของ Alipay


(ในหน้าต่างของ Alipay ที่รวบรวมหลายฟังก์ชั่นเข้าไว้ด้วยกัน)
1) ฟังก์ชั่น 扫一扫สแกนสักหน่อย คือ ฟังก์ชั่นที่ให้เราสแกนเพื่อเข้าถึงลิงค์ต่าง ๆ ตามแต่กิจกรรมที่เราต้องการจะเข้าร่วม เหมือนเป็นการ Login เข้าระบบเชื่อมต่อกับกิจกรรมที่เราต้องการ
2) ฟังก์ชั่น 付款码บาร์โค้ดเพื่อจ่ายเงิน สมาร์ทโฟนแต่ละเครื่องจะมีรหัสประจำเครื่องที่ต่างกัน และเพื่อความปลอดภัยระบบจะมีการเปลี่ยนรหัสบาร์โค้ดประจำเครื่องทุก 5 นาที โดยฟังก์ชั่นนี้เราสามารถแสดงบาร์โค้ดชำระเงินของเราให้กับร้านสะดวกซื้อ เมื่อเคาท์เตอร์ทำการสแกน บนโทรศัพท์ของเราจะโชว์จำนวนเงินและทำการชำระเงินจาก Alipay ของเราไปเข้าระบบบัญชีของทางร้านได้อย่างรวดเร็วไร้กังวล ซึ่งร้านสะดวกซื้อที่สามารถใช้บริการนี้ได้ อาทิ แฟมิลี่มาร์ท (全家) เซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) เค่อตี๋ (可的) เหลียนฮวา (联华)
3) ฟังก์ชั่น 余额宝เงินเหลือเก็บออม เหมาะสำหรับนักออมเงินทั้งหลาย ฟังก์ชั่นนี้ต่อการนำเงินที่เหลือในบัญชีของเราไปฝากในสถาบันการเงินที่มี Alipay เป็นคนกลาง และให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารทั่วไป เรียกได้ว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม แต่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติใช้บริการ
4) ฟังก์ชั่น 手机充值เติมเงินโทรศัพท์ คือ ฟังก์ชั่นให้เราเติมเงินโทรศัพท์โดยมีสิทธิ์พิเศษ หรือส่วนลด เช่น เติมเงิน 100 หยวน จากเดิมที่ต้องจ่าย 100 หยวนเต็มก็อาจจะได้ลดราคาเหลือแค่ 99.98 หยวน เป็นต้น
5) ฟังก์ชั่น 信用卡还款ชำระบัตรเครดิต โดย Alipay จะทำการจ่ายเงินผ่านบัตร Debit ที่เราเลือกเอาไว้ ขอเพียงแค่มีสมาร์ทโฟน และ Alipay ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็หมดกังวลเรื่องการชำระบัตรเครดิตเกินกำหนด
6) ฟังก์ชั่น 淘宝电影เถาเป่าดูหนัง เป็นฟังก์ชั่นสำหรับคอหนังโรงโดยเฉพาะ เพราะนอกจากจะมีโปรแกรมหนังน่าสนใจมานำเสนอ ยังมีระบบค้นหาโรงหนังที่ใกล้กับเราที่สุดและแจ้งโปรแกรมหนังและเวลาให้อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นยังรองรับการจองและจ่ายเงินค่าตั๋วผ่านระบบ Alipay พร้อมส่วนลดอีกมากมาย
7) ฟังก์ชั่น 面对付 จ่ายเงินต่อหน้า เป็นการจ่ายเงินผ่านระบบเสียง ระหว่างบัญชี Alipay หนึ่งไปยังอีก Alipay หนึ่ง โดยการสแกนระบบเสียงที่ส่งผ่านออกมาจากเครื่องผู้จ่ายเงินถึงเครื่องผู้รับ
8) ฟังก์ชั่น 亲蜜付แชร์กระเป๋าเงินให้คนรัก คือ ฟังก์ชั่นจ่ายเงินให้กันและกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องยินยอมและพร้อมใจกันกำหนดวงเงินการให้คนรักในวงเงินเท่ากัน กล่าวคือบัญชี Alipay สองบัญชีจะเชื่อมต่อกันและสามารถใช้เงินของกันและกันได้อย่างเสรี ภายใต้วงเงินที่กำหนดเอาไว้
9) ฟังก์ชั่น 股票行情 เชคสถานการณ์หุ้น ฟังก์ชั่นนี้จะเกาะติดความเปลี่ยนแปลงขึ้นลงกระดานหุ้นแบบ Real-time ได้เพื่อให้นักธุรกิจทั้งหลายได้จับตาสถานการณ์หุ้นแบบไม่หลุดกระแส แต่ยังไม่ได้เปิดบริการให้ซื้อหุ้น
10) ฟังก์ชั่น 机票ตั๋วเครื่องบิน เป็นช่องทางอำนวยความสะดวกในการซื้อตั๋วเครื่องบินแบบง่าย ๆ ให้นักเดินทางอีกทางหนึ่ง
11) ฟังก์ชั่น 水电煤ชำระค่าใช้จ่ายภายในบ้าน คือ ฟังก์ชั่นจ่ายเงินค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส โดยเราสามารถผูกที่อยู่และใบเสร็จไว้กับระบบ ซึ่งเมื่อมีการจ่ายผ่านระบบครั้งหนึ่งก็จะมีการบันทึกข้อมูลเอาไว้ โดยเมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายในเดือนต่อไประบบจะส่งข้อความแจ้งแล้วสามารถกดจ่ายได้ทันที่ต้องการ
12) ฟังก์ชั่น AA收款 แชร์กันนะ เชื่อว่าทุกคนคงมีประสบการณ์การแชร์ค่าใช่จ่ายต่าง ๆ กับกลุ่มเพื่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่ารถ ค่าของขวัญ และคงต้องเคยปวดหัวกับการที่ต้องนั่งคิดบวกลบคูณหาร และตามทวงเก็บเงินที่วุ่นวาย โดยฟังก์ชั่นนี้ช่วยให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่าย โดยระบบจะช่วยคิดและแยกจำนวนเงินเป็นส่วน ๆ ต่างคนต่างจ่ายได้ทันที
13) ฟังก์ชั่น 淘点点คูปองค์ลดราคา เหมาะสำหรับนักช้อปมือไว เพราะระบบจะประมวลหาข้อมูลร้านอาหารและเครื่องดื่มพร้อมแจกคูปองส่วนลดออกมาเป็นระยะ ทว่า คงต้องมือไวกดแย่งให้ทันเวลาก่อนที่คนอื่นจะคว้าเอาไป
14) ฟังก์ชั่น 境外游บัตรจ่ายสินค้าบริการพร้อมเป็นคู่มือคืนภาษีในต่างแดน เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวยุคดิจิตอลในการซื้อบัตรโดยสาร เช่น รถไฟฟ้า รถประจำทาง ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมหลายประเทศ อาทิ เกาหลี สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นคู่มือสำหรับนักช้อปในการขอคืนภาษีได้ด้วยการเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการขอคืนภาษีของแต่ละประเทศอีกด้วย สำหรับนักท่องเที่ยวที่ใช้ฟังก์ชั่นนี้ ในประเทศไทยสามารถใช้บริการผ่านการซื้อบัตร Rabbit ในการจับจ่ายในร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ชั้นนำทั่วไป
15) ฟังก์ชั่น 旅游优惠สิทธิพิเศษท่องเที่ยว ให้คุณซื้อตั๋วเครื่องบิน รถไฟ แพ็คเกจท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ โรงแรม บัตรเข้าสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงจ่ายค่าบริการทำวีซ่าของหลายประเทศ
16) ฟังก์ชั่น 收款 ทวงเงิน ระบบจะส่งข้อความผ่านระบบ Alipay ไปยังลูกหนี้ โดยเราไม่ต้องไปทวงเองให้เสียแรงและเสียเวลา
17) ฟังก์ชั่น 爱心捐赠 ธารน้ำใจ เป็นฟังก์ชั่นทำบุญเพิ่มความสะดวกให้กับนักบุญที่ไม่ค่อยมีเวลา โดยเป็นการทำงานร่วมกับโครงการการกุศลต่าง ๆ หรือ บุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเราสามารถเลือกบริจาคและช่วยเหลือสนับสนุนเงินตามความพอใจ
18) ฟังก์ชั่น 话费卡转让 เติมเงินให้เพื่อน สำหรับฟังก์ชั่นนี้เป็นการเติมเงินโทรศัพท์ให้กัน แต่จะคิดค่าบริการตามจำนวนเงินที่คุณเติม ซึ่งไม่ได้รับความนิยมมากนักในกลุ่มผู้ใช้งาน เพราะมีค่าบริการเสริม
19) ฟังก์ชั่น 校园一卡通 เติมเงินเข้าบัตรนักเรียน สถานศึกษาในประเทศจีน ไม่ว่าจะระดับไหนปัจจุบันนี้ได้นำระบบดิจิตอลเข้าใช้อย่างแพร่หลาย โดยใช้บัตรนักเรียน นักศึกษา จะมีลักษณะเป็น Smart Card นอกจากจะมีการเก็บประวัติเรื่องการเรียนแล้วยังสามารถเติมเงินเพื่อใช้จ่ายภายในมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย ซึ่งฟังก์ชั่นนี้ของ Alipay เน้นกลุ่มลูกค้ากลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เป็นกลุ่มตลาดใหญ่ในปัจจุบัน เพิ่มความสะดวกสบายให้ทั้งผู้ปกครองและนักเรียนเองในการเติมเงินโดยฟังก์ชั่นนี้ได้รับสนับสนุนจากสถานศึกษาเกือบทั้งหมดทั่วประเทศ
20) ฟังก์ชั่น 教育缴费จ่ายค่าเทอม เป็นการโอนเงินเข้าบัญชีทางสถานศึกษาที่เราต้องการโดยตรง ซึ่งได้รับความนิยมและยอมรับเป็นอย่างดีในกลุ่มผู้ปกครอง นักเรียนนักศึกษา และสถานศึกษาเกือบทั่วทั้งประเทศ
21) ฟังก์ชั่น 城市一卡通บัตรเดินทางในเมือง ใช้แทนบัตรคมนาคมที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือฟังชั่นให้คุณใช้โทรศัพท์จ่ายการเดินทางได้ง่ายๆ เช่น รถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องเปิดระบบ NFC เสียก่อน
22) ฟังก์ชั่น 游戏充值 เติมเงินในเกมส์ คือฟังชั่นให้คุณเติมเงินในเกมส์ที่คุณเล่น
นอกจาก ทั้ง 22 ฟังก์ชั่นที่ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมแล้ว ผู้ประกอบการยังใช้ประโยชน์จาก Alipay ในการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจได้เช่นกัน อาทิ การโอนเงินที่ลูกค้าจ่ายผ่านระบบออนไลน์เข้าสู่บัตร ATM ทันที หรือจะเลือกเก็บเงินลูกค้าไว้ระบบออนไลน์เพื่อใช้จ่ายต่อไปก็ได้ ปัจจุบันการให้บริการอออนไลน์นอกจากบริษัท Alibaba แล้ว ยังมี Tencents บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ชื่อดังผู้คิดค้นพัฒนา QQ และ Wechat ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคจีนไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจไทยควรศึกษาระบบ Alipay เพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคจีนปัจจุบัน ในส่วนของศูนย์บีไอซีจะขอเกาะติดเทคโนโลยีและนำเสนอบทความดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจไทย โดยบทความครั้งหน้าผู้ประกอบธุรกิจการนำเข้า - ส่งออก ห้ามพลาด แต่จะเป็นสินค้าอะไรอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป !!!

------------------------------------------------------------------



ที่มา : ธุรกิจออนไลนจีน (1) : แอปพลิเคชั่นเดียว 22 ฟังก์ชั่น Alipay ตอบทุกความต้องการเรื่องเงิน
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=650&ID=15221

Alipay คืออะไร

Alipay คืออะไร

                Alipay เป็นธนาคารของอินเตอร์เน็ต โดยสามารถที่จะทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านทาง alipay ได้ ซึ่งเป็นของทางประเทศจีน จะเหมือนกับ Paypal หรือว่า PAYSBUY ของบ้านเรานั้นเอง โดยสามารถที่จะผูกเข้ากับบัตรเครดิต มีการเต็มเงินถอดเงิน สามารถที่จะเติมแล้วชำระค่าสินค้าต่างๆ ในเว็บของประเทศจีนและเว็บอื่นๆ ที่ได้รองรับทั่วโลก และต้องบอกว่าตอนนี้ทั่วโลกได้ทำการรองรับไปมากแล้ว สามารถที่จะใช้งานได้อย่างสะดวกไม่ต่างจาก Paypal หากภายในประเทศจีนสามารถที่จะรองรับการทำธุรกรรมแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าสินค้า ชำระค่าบริการ ค่าน้ำ ค่าไฟ อื่นๆ ได้

             Alipay ได้ถูกก่อนตั้งขึ้นโดยบริษัทในเครือของอาลีบาบา ในปี 2004 โดยช่วยอำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าเว็บต่างๆ ของจีนนั้นเอง ดังนั้นหากใครที่สมัครเว็บใหญ่ๆ ของจีนเพื่อทำการชำระเงินถือได้ว่าต้องมีบัญชี Alipay ไว้ด้วยไม่ว่าจะเป็น ถาวป่าว อาลีบาบา หากสมัครจะได้บัญชีของ Alipay ไปด้วยเลย ดังนั้นเราไม่จำเป็นที่จะต้องทำการสมัครอีก ดังนั้นถือเป็นการอำนวยความสะดวกกับผู้ใช้จ่ายสินค้า

ขอดีของ Alipay สำหรับข้อดีนั้นมีหลายอย่าง

– สามารถที่จะซื้อสินค้าจากเว็บจีนได้เกือบทั้งหมด สะดวก สามารถที่จะเติมเงินผ่านธนาคารของจีนที่มีสาขาในประเทศไทยหรือว่าผู้ให้บริการเติมเงินจากทางคนไทยเอง ประมาร 30 -50 หยวนต่อครั้งต่อบัญชี

– จ่าค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียว ในการเติมเงินเท่านั้นไม่มีค่าธรรมเนียมในการชำระเงินหรือว่าซื้อสินค้าในเว็บ

– ทางร้านจะไม่รับเงินก่อนที่เราจะได้รับสินค้าแล้ว นั่นก็คือ หากเราได้รับสินค้าเรียบร้อยแล้ว จึงไปยืนยันและทำให้เงินถูกชำระเจ้าของร้านในเวลาถัดมา แต่ถ้าไม่ได้ยืนยันภายใน 15 วันจำนวนเงินจะดำเนินการโอนเข้าร้านเอง

– หากสินค้าไม่ได้รับหรือว่าไม่ใช่สินค้าที่ต้องการทางร้านจะไม่ได้รับเงินและเราก็จะได้รับเงินคืนเช่นกัน

– สามารถที่จะใช้ชำเงินได้อย่างมากมายหลายชนิดในจีนและต่างประเทศ เกือบทุกอย่างที่สามารถสั่งออนไลน์ได้เลยก็ว่าได้

– มีความปลอดภัยสูงในด้านการชำระเงินต่างๆ

– สามารถที่จะโอนเงินจาก Alipay เข้าบัญชีธนาคารที่เราเปิดได้ในประเทศไทยซึ่งเป็นธนาคารของจีน

                ถ้าหากเราจะทำการสั่งซื้อสินค้าที่จีน ต้องมีบัญชี Alipay นี้น่าจะคุ้มกว่าเพราะว่าเทียบกับการชำระด้วยวิธีอื่นๆ นั้นจะมีการคิดค่าธรรมเนียมต่อราคาต่อครั้ง จึงทำให้ราคาสินค้าแพง Alipay นั้นเสียแค่ค่าเติมแล้วก็ชำระค่าสินค้าอื่นๆได้เลย มีความสะดวกและปลอดภัยที่สำคัญไม่ต้องกว่าว่าเสียเงินแล้วไม่ได้สินค้า เพราะว่าเงินจะยังไม่โอนจนกว่าจะได้รับสินค้านั้นเอง

ที่มา : Alipay คืออะไร มาทำความรู้จักกัน
http://www.thaiwebsocial.com/2014/02/alipay-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3-%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99/

ถาม-ตอบ การเปิดร้านค้าออนไลน์ในจีน 

การเปิดร้านค้าออนไลน์ในจีน 
เปิดร้านค้าออนไลน์ในจีน สามารถเริ่มต้นได้อย่างไรบ้าง

ตอบ :

1. ต้องสมัครเป็นแอคเค้าท์ผู้ซื้อหรือผู้ขาย
การสมัครเปิดผู้ขายสินค้าในเว็บไซต์ Taobao.com จะต้องสมัครเป็นบัญชีผู้ซื้อก่อน จากนั้นจะต้องมีบัญชีระบบการชำระเงินออนไลน์กับเว็บไซต์ Alipay.com ที่ได้ยืนยันตัวตนผู้ใช้ไว้แล้ว (Verify member) จากนั้นก็จะสามารถสมัครเป็นเพื่อเปิดร้านได้ค่ะ ขั้นตอนการเปิดร้านค้าออนไลน์บนเว็บไซต์ Taobao.com ศูนย์ฯ กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำบทความลักษณะ How to ซึ่งประกอบด้วยภาพกระบวนการสมัครตั้งแต่เริ่มต้น บทความจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฏาคมและจะจัดส่งให้ทางอีเมล์ของคุณป้ายค่ะ

2. ผู้ขาย(ตัวเรา) ไม่ได้อยู่ประเทศจีน ต้องเปิดบัญชี Bank of China หรือบัญชีจีนใช่หรือไม่
เนื่องจากระบบรับชำระเงินออนไลน์  Alipay.com เชื่อมต่อกับธนาคารของจีนเท่านั้น ดังนั้นผู้ขายจำเป็นต้องมีบัญชีธนาคารพาณิชย์จีน ที่ได้เปิดบัญชีในประเทศจีน เพื่อให้สามารถเชื่อมกับระบบ Alipay เพื่อให้สามารถใช้โอนเงินรายได้ที่เกิดขึ้นมาได้ ทั้งนี้ การสมัครบัญชีธนาคารในจีนนั้น จะต้องสมัครใช้บริการธนาคารออนไลน์ (e-banking) ด้วย เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกรรมจากต่างประเทศ และใช้ในการตรวจสอบการรับเงินที่มาจากจายได้ใน Taobao.com ค่ะ

3. ถ้าจะขายเครื่องสำอาง (ครีมบำรุงผิว) ไม่ทราบว่าขายได้เลยหรือเปล่าค่ะ เป็นแบรนด์ที่ผ่านมาตรฐาน FDA, GMP แล้วที่ไทย
การขายสินค้าเครื่องสำอางค์ประเภทครีมบำรุงผิว สามารถนำมาจำหน่ายในจีนได้ ไม่ใช่สินค้าที่มีมาตรการห้ามนำเข้า แต่ทั้งนี้การนำเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์การจำหน่ายนั้น แม้ว่าสินค้าจะได้รับมาตรฐานด้านการผลิตในต่างประเทศ เช่น FDA, GMP ฯลฯ อยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อต้องการนำเข้ามาในจีนเพื่อจำหน่าย สินค้านั้นก็จะต้องได้รับผ่านมาตรฐานการนำเข้าด้านความปลอดภัยซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบกับหน่วยงานของจีนกล่าวคือสำนักงาน  AQSIQ ในพื้นที่ก่อน

(http://www.aqsiq.gov.cn) ซึ่งใช้ทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและขออนุญาตนำเข้า ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสินค้าเครื่องสำอางค์ประเภทครีมบำรุงผิวจากญี่ปุ่นและไต้หวันได้รับความนิยมนำเข้ามาในจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งการนำเข้าที่ถูกต้องตามกฏระเบียบด้านความปลอดภัยของทางการจีน การนำเข้าโดยถือติดตัวเข้ามาเอง (hand carry) ตลอดจนการส่งเข้ามาเป็นพัสดุย่อยทางไปรษณีย์โดยระบุเป็นของใช้ส่วนตัวหรือของขวัญแทนซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูง และเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบย้อนหลังหากพบว่านำเข้ามาเพื่อการค้าโดยไม่ได้มีการตรวจสอบเพื่อขออนุญาตการนำเข้าไว้ก่อนแล้ว

4. สินค้าประเภทอาหารเสริม สามารถขายได้ไหมคะ ผ่านมาตรฐานดั่งกล่าวทุกอย่างที่เมืองไทยแล้วค่ะ
สินค้าประเภทอาหารเสริมสามารถนำเข้ามาขายได้ โดยหากเป็นการนำเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า จะต้องผ่านมาตรฐานนำเข้าและขออนุญาตการนำเข้าจากทางการจีนก่อน แม้ว่าสินค้านั้นจะผ่านมาตรฐานที่ไทยแล้วก็ตาม เช่นเดียวกับข้อปฏิบัติของการนำเข้าเครื่องสำอางค์แต่จะมีรายละเอียดด้านการตรวจสอบการนำเข้าแตกต่างออกไปตามประเภทของสินค้าค่ะ

5. สามารถมีสินค้าหลายๆประเภทในร้านเดียวได้ไหมคะ เช่น ครีมและเสื้อผ้า
สามารถมีสินค้าหลากหลายในร้านเดียวได้ค่ะ จะเห็นได้จากหลายๆร้าน เช่น ร้านขายเสื้อผ้า อาจมีทั้งกระเป๋า รองเท้า รวมอยู่ในร้านเดียวกันด้วย เป็นต้น

6. ทำอย่างไรให้คนจีนรู้จักร้านเรามากขึ้น
วิธีที่ทำให้คนรู้จักร้านมากขึ้นนั้นอาจอาศัยวิธีทางการตลาดเป็นหลัก เช่น การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยม เช่น Weibo การลงโฆษณาในเว็บไซต์ Taobao.com เพื่อให้สินค้าปรากฏในตำแหน่งที่ดี ตลอดจนการใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การบรรยายสินค้าที่ดึงดูดให้เกิดความน่าสนใจโดดเด่น แตกต่างจากผู้ขายรายอื่น การใช้คำค้นหา (Keywords) ที่กำลังเป็นที่นิยมประกอบในสินค้าที่ได้ลงประกาศไว้ เป็นต้น ทั้งนี้ การทำให้ร้านรู้จักเราอาจไม่มีวิธีการเฉพาะที่ได้ผลแน่นอน อาจต้องอาศัยการเรียนรู้ ศึกษาตลาด ปรับปรุงและพัฒนาเทคนิคการขายอย่างต่อเนื่อง

7. ทั้งหมดทั้งกระบวนการ เราสามารถทำเองได้ที่ไทยเลยใช่หรือไม่
การซื้อขายผ่านเว็บไซต์ Taobao.com เป็นระบบที่เชื่อมผู้ซื้อผู้ขายในจีนที่อยู่ห่างไกลกันให้สามารถทำธุรกรรมซื้อขายต่อกันได้ผ่านทางระบบซื้อขายออนไลน์ และรวมไปถึงผู้ขายที่อยู่ในต่างประเทศก็สามารถลงประกาศขายสินค้า รับชำระเงินออนไลน์ โอนเงินรายได้เข้าบัญชีที่ได้เปิดไว้ในประเทศจีน และโอนเงินในบัญชีจีนกลับไทยผ่านระบบการโอนเงินข้ามประเทศธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ตามอัตราแลกเปลี่ยนธนาคารได้ ตัวอย่างของผู้ขายร้าน Taobao ที่อยู่ในต่างประเทศ สามารถค้นหาได้จากสินค้าลักษณะ Pre-order หรือสินค้าที่ผู้ขายระบุว่าอยู่ในต่างประเทศ (海外)เป็นต้น

ที่มา : ท่านถาม-เราตอบ
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/faqs/detail.php?SECTION_ID=645&ID=14364

ขั้นตอนการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน

การส่งออกผลไมไทยไปจีน 
ขั้นตอนการส่งออก พฤติกรรมการบริโภคผลไม้ของชาวจีน 
คำแนะนำที่เกี่ยวข้องสำหรับผู้ที่ไม่เคยส่งออก
ตลอดจนสิ่งสำคัญที่ต้องทราบเพื่อเตรียมการส่งออก


1. การขออนุญาตเป็นผู้ส่งออกสินค้าของไทย ต้องดำเนินเรื่องขออนุญาตเป็นผู้ส่งออกสินค้ากับกรมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้บัตรประจำตัวผู้ส่งออกไว้ใช้ในการออกหนังสือรับรองและใบอนุญาตต่างๆที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการส่งออกจากประเทศไทย โดยผู้ยื่นคำขอจะต้องเป็นนิติบุคคล (บริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัด) ที่มีการจดเลขที่ผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว (มีใบ ภ.พ.20) ซึ่งปัจจุบันผู้ขอสามารถกรอกคำร้องขอมีบัตรประจำตัวผู้ส่งออก ผู้นำเข้าได้ทางเว็บไซต์ http://reg-users.dft.go.th (กดหัวข้อดาวน์โหลด) พร้อมแนบเอกสารเพิ่มเติมตามที่กำหนดและยื่นขอได้ที่กรมการค้าระหว่างประเทศ รายละเอียดเพิ่มติดต่อสำนักบริการการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าระหว่างประเทศ สายด่วน 1385

2. การยื่นเอกสารใบรับรองปลอดโรคพืชจากกรมวิชาการเกษตร เมื่อได้ใบรับการอนุญาตเป็นผู้ส่งออกสินค้าไทยแล้ว การส่งออกสินค้าแต่ละชนิดก็ยังมีขั้นตอนการขออนุญาตส่งออกที่แตกต่างกัน โดยหากเป็นพืชผลทางการเกษตร จำเป็นต้องขอเอกสารเพิ่มเติมประกอบการส่งออกกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งตามประกาศกรมการค้าระหว่างประเทศเรื่องการกำหนดชนิดหรือประเภทของผักและผลไม้ที่ต้องมีหนังสือรับรองในการส่งออก ระบุให้ผลไม้ที่ส่งออกไปต่างประเทศหากประเทศที่นำเข้านั้นต้องการใบรับรองปลอดโรคพืช สารตกค้าง หรือแมลง ผู้ส่งออกสามารถขอใบรับรองดังกล่าวได้ที่กรมวิชาการเกษตร

3. การเตรียมเอกสารสำหรับใช้ในการนำเข้าไปยังจีน นอกจากการเตรียมเอกสารใบรับรองของไทยเพื่อให้ผลไม้สามารถออกจากประเทศไทยได้อย่างถูกต้องแล้ว เพื่อให้สินค้าสามารถเข้าประเทศจีนได้อย่างถูกต้องทางการจีนก็ได้มีข้อกำหนดด้านสุขอนามัยผลไม้ที่จะนำเข้ามายังจีนที่ผู้นำเข้าจากทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม ซึ่งปัจจุบันประเทศจีนโดยหน่วยงาน AQSIQ (Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine of the People's Republic of China 国家质量监督检验检疫总局门户) ที่ดูแลด้านสุขอนามัยและการตรวจสอบความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดให้ผลไม้สดสามารถนำเข้าจีนได้โดยต้องขออนุญาตการนำเข้าสินค้าให้เรียบร้อยก่อนทำการส่งสินค้าออก ข้อกำหนดของเอกสารประกอบการนำเข้าจากฝั่งไทยที่ทางการจีนกำหนดนอกจากสอบถามโดยตรงที่หน่วยงาน AQSIQ แล้ว อาจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง ซึ่งมีหน้าที่ติดตามรายละเอียดการนำเข้าโดยตรง ทั้งนี้ เนื่องจากกฏระเบียบการนำเข้าของทางการจีนมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยผู้ส่งออกจำเป็นต้องติดตามกฏระเบียบการนำเข้าผลไม้ของทางการจีนอย่างใกล้ชิด รายละเอียดเพิ่มเติมด้านข้อกำหนดด้านสุขอนามัยที่สำคัญของสาธารณรัฐประชาชนจีน (http://www.thaifruits-online.com/UserFiles/File/file/Health.pdf)

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง (ติดต่อ Office of Agricutural Affairs, Royal Thai Embassy, No.11, Jian Guo Men Wai, Chaoyang District, Beijing 100600, P.R.China E-mail : moac_bj@hotmail.com Tel : 8610 65323955 Fax : 8610 65323950)

ทั้งนี้ ในการส่งออกผลไม้จากไทยเพื่อนำเข้าจีน ผู้นำเข้าจีนจะต้องมีเอกสารใบอนุญาตการนำเข้าผลไม้เพื่อยื่นขอนำเข้าด้วย สำหรับผู้ส่งออกที่ยังไม่เคยมีลูกค้าหรือผู้นำเข้าในจีนมาก่อน อาจเริ่มจากหาผู้ซื้อที่เป็นผู้นำเข้าจีน หรือผู้นำเข้าจีนที่มีใบอนุญาตการนำเข้าผลไม้ที่รับจ้างนำเข้าสินค้าเพื่อใช้เป็นผู้ยื่นขอการนำเข้าผลไม้มายังจีนได้

4. พิธีการศุลกากรจากกรมศุลกากรส่งออกสินค้าจากไทย เมื่อสินค้าได้รับการรับรองการส่งออก และมีใบอนุญาตใช้เพื่อเตรียมพร้อมในการนำเข้าผ่านหน่วยงานจีนแล้ว เพื่อให้สินค้าออกจากประเทศไทยอย่างถูกต้องยังจำเป็นต้องเตรียมเอกสารที่สำคัญ เช่น เอกสารใบขนส่งสินค้าขาออก (กศก.101) เอกสารใบราคาสินค้า Invoice (ตามจำนวนของใบขนขาออกที่ยื่นทั้งหมด) เอกสาร Packing list แสดงรายละเอียดการบรรจุหีบห่อ และเอกสารอื่นๆตามที่กรมศุลกากรต้องการ เป็นต้น โดยในขั้นตอนพิธีการศุลกากรนี้อาจมีขั้นตอนและมีการเตรียมเอกสารค่อนข้างมาก ดังนั้นส่วนผู้ส่งออกส่วนใหญ่จะใช้บริการของบริษัทชิปปิ้งที่มีบัตรผ่านศุลกากรเพื่อดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากรส่งออกแทนในนามของบริษัท ซึ่งคุณสุทธิชัยอาจเลือกใช้บริษัทที่มีประสบการณ์พิธีการศุลกากรขาออก โดยสามารถเลือกบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือได้จากรายชื่อในเว็บไซต์สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย www.ctat.or.th ได้

5. การใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้าในจีนจากข้อตกลงการค้า FTA China-ASEAN เนื่องจากจีนและอาเซียนได้มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศ FTA China-ASEAN ซึ่งส่งผลให้สินค้าบางรายการที่ส่งออกจากไทยไปจีนไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้า ณ ประเทศจีน ซึ่งรวมถึงผลไม้สดจำนวน 23 ชนิดที่อนุญาตให้นำเข้าไปจีนด้วย ผู้ส่งออกที่ต้องการใช้สิทธิลดภาษีนำเข้านี้จะต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ฟอร์มอี (Form E) ซึ่งสามารถยื่นขอได้ที่กรมการค้าต่างประเทศของไทย หอการค้าแห่งประเทศ หรือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อใช้ประกอบการลดภาษีนำเข้าไปยังประเทศจีนเหลือร้อยละ 0 ได้ หรือตามที่รายการข้อตกลงการลดภาษีกำหนดไว้ได้ อย่างไรก็ดีสินค้าที่ใช้สิทธิประโยชน์เพื่อลดภาษีการนำเข้านั้น เมื่อยังจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าการนำเข้าอีกด้วย

6. ความรู้เบื้องต้นด้านการค้าระหว่างประเทศ นอกจากขั้นตอนการขออนุญาตส่งออก การเตรียมเอกสารส่งออก การดำเนินพิธีการศุลกากรแล้ว ผู้ส่งออกควรมีความรู้เบื้องต้นด้านการค้าระหว่างประเทศที่จำเป็นอื่นๆ อีกเช่น การคำนวณต้นทุนและการตั้งราคาสินค้าเพื่อการส่งออก วิธีการชำระเงินและเงื่อนไข การชำระเงิน การทำสัญญาการค้าระหว่างประเทศ ข้อกำหนดในการส่งมอบสินค้า (Incoterm) การขนส่งทางทะเล ทางอากาศ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เปิดคอร์สด้านการส่งออก เช่น หลักสูตรความรู้เบื้องต้นการส่งออก, หลักสูตรผู้ส่งออกอัจฉริยะ Smart Exporter โดยสถาบันฝึกอบรมการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (http://application.ditp.go.th/training_institute/index.html) และหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) เป็นต้น

7. ความรู้เบื้องต้นที่ควรมีสำหรับการค้าขายกับประเทศจีน นอกจากความรู้เบื้องต้นที่ผู้ส่งออกควรมีแล้ว ผู้ส่งออกควรมีความรู้เจาะลึกในทักษะที่ควรมีเพื่อค้าขายกับประเทศจีนอีกด้วย เช่น ความรู้ภาษาจีนเบื้องต้น ความเข้าใจอุปนิสัยทัศนคติการทำธุรกิจของคนจีนในยุคปัจจุบัน วัฒนธรรมทางการค้า การเจรจาการค้ากับชาวจีน การสื่อสารด้วยภาษาจีนเบื้องต้น การค้นหาข้อมูลทางการค้าภาษาจีน พฤติกรรมผู้บริโภคจีน ตลอดจนข้อควรระวังในการค้าขายกับจีน เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนทั้ง 9 แห่งได้จัดทำจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและรวบรวมไว้ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน www.thaibizchina.com

8. การตลาดเพื่อการหาลูกค้าในต่างประเทศ/การหาผู้นำเข้าผลไม้ในจีน หลังจากที่มีพื้นฐานความรู้ด้านการส่งออกแล้วสิ่งต่อไปคือการหาลูกค้าในต่างประเทศ ก่อนที่จะส่งออกมายังต่างประเทศอาจพิจารณาเลือกตลาดที่จะส่งออกว่าควรส่งออกไปประเทศไหน หากเลือกส่งออกมายังประเทศจีนก็ควรเลือกว่าจะส่งออกมายังประเทศจีนในพื้นที่ใด ซึ่งจีนในแต่ละพื้นที่มีรสนิยมความชอบสินค้าแตกต่างกัน กำลังซื้อต่างกัน สภาพตลาดสินค้าในแต่ละพื้นที่ก็ย่อมแตกต่างกัน ผู้ส่งออกควรทำความเข้าใจกับแต่ละพื้นที่ที่จะส่งออก ตลอดจนศึกษาข้อมูลการตลาดของสินค้าในแต่ละพื้นที่ก่อนที่จะเลือกเมืองที่จะส่งออกสินค้าไป ผู้ส่งออกอาจจำเป็นต้องเดินทางมาสำรวจตลาด ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค เสาะหาช่องทางการเข้าตลาดในการขายสินค้าด้วยตัวเอง เป็นต้น

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการส่งเสริมสินค้าผลไม้ไทยในตลาดจีน เว็บไซต์ http://www.thaifruits-online.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ส่งเสริมการค้าผลไม้ในจีน โดยการบริหารงานของกระทรวงเกษรตรและสหกรณ์ไทย ภายในมีข้อมูลเกี่ยวกับราคาผลไม้ไทยในตลาดค้าส่งสำคัญของจีน รายชื่อผู้ส่งออกไทย รายชื่อผู้นำเข้าจีน กฏระเบียบการนำเข้าส่งออก การสนับสนุนการส่งผลไม้ไทย เว็บบอร์ดแลกเปลี่ยนความรู้การนำเข้าส่งออก การแก้ปัญหาอุปสรรคทางการส่งออกผลไม้ บริการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญแนะนำการส่งออกสู่จีน หรือสามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมต่างๆ ได้ที่สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง ซึ่งทำหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมการค้าผลไม้ไทยในตลาดจีน โทรศัพท์ (86-10) 6532 3955 อีเมล์ moac_bj@hotmail.com

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ นครกว่างโจว

ที่มา : ท่านถาม-เราตอบ
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/faqs/detail.php?SECTION_ID=640&ID=14310

วิธีสมัคร Taobao แบบละเอียดยิบ


How to do online business in China? มารู้จักวิธีเปิดร้านออนไลน์ใน Taobao.com กันเถอะ!!

เมื่อนึกถึงเว็บไซต์ e-Commerce ยอดนิยมอันดับหนึ่งของชาวจีน ย่อมหนีไม่พ้นชื่อของเว็บไซต์ที่สร้างยอดขายสูงสุดกว่า 163,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีอย่าง www.Taobao.com เว็บไซต์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ “อยากซื้อ” ได้ซื้อ ผู้ที่ “อยากขาย” ได้มีโอกาสขาย โดยผู้ขายไม่จำเป็นต้องตั้งบริษัท ผู้ซื้อขอเพียงแค่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ก็สามารถ “ซื้อง่ายขายคล่อง” จนแทบจะหาทุกอย่างได้บนเว็บไซต์แห่งนี้

ความร้อนแรงของ Taobao.com ไม่เพียงแต่กระตุ้นมูลค่าการค้าออนไลน์ในจีนให้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 12 เท่าในเวลาเพียง 5 ปี แต่ยังดึงดูดใจให้แบรนด์สินค้าชั้นนำทั้งในจีนและต่างประเทศ มิอาจมองข้ามช่องทางการค้าออนไลน์บนเว็บไซต์แห่งนี้อีกด้วย

ปรากฏการณ์ของเว็บไซต์ Taobao.com นับว่าเป็นช่องทางการค้าใหม่ที่สินค้าสามารถกระจายโดยตรงส่งถึงมือผู้บริโภค ต่างกับช่องทางการค้าปลีกที่จำหน่ายผ่านร้านค้าแบบเดิม ความได้เปรียบของการซื้อขายผ่านช่องทางเว็บไซต์นี้ ยังเอื้อประโยชน์ต่อสินค้าที่อยู่ห่างไกลแต่มีผู้ที่สนใจซื้อให้สามารถสร้างยอดขายได้อย่างไร้พรมแดน แม้ว่าเว็บไซต์ Taobao.com จะจัดทำในรูปแบบภาษาจีนเท่านั้น แต่ชาวต่างชาติหรือผู้ขายที่อยู่ในต่างประเทศที่ต้องการขายสินค้าให้กับชาวจีนในประเทศ ก็สามารถประกาศขายสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ และเก็บเงินทางระบบรับชำระเงินออนไลน์ได้ด้วยเช่นกัน

โอกาสทองในการเข้าถึงผู้ซื้อชาวจีนผ่านช่องทางการค้าออนไลน์บนเว็บ Taobao.com นี้ นับว่าเอื้อประโยชน์โดยตรงให้กับผู้ส่งออกไทยที่ต้องการมุ่งขยายตลาดสู่ประเทศจีน ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งควบคู่ไปกับการเจาะตลาดจีนผ่านการกระจายสินค้าในช่องทางค้าปลีกของผู้นำเข้าส่งออกที่มีอยู่เดิม บทความ How to do online business in China? มารู้จักวิธีการเปิดร้านออนไลน์ใน Taobao.com กันเถอะ!! จะแนะนำวิธีการขั้นตอนการเปิดร้านค้าออนไลน์บนเว็บไซต์ Taobao.com สำหรับชาวต่างชาติ เพื่อให้สามารถเป็นเจ้าของร้านขายสินค้าตรงไปยังกลุ่มผู้ซื้อในจีนเองได้โดยไม่ต้องอยู่ในจีน อย่างไรก็ดี การเปิดร้านค้าออนไลน์ดังกล่าวเหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้พื้นฐานภาษาจีน ความรู้พื้นฐานการใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับขั้นตอนการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีน และที่สำคัญ คือ ต้องมีประวัติการเดินทางเข้าจีนหรือเคยพำนักอยู่ในจีน เนื่องจากว่าขั้นตอนการสมัครจะต้องใช้เอกสารสำคัญบางส่วนที่หน่วยงานจีนออกให้ เช่น วีซ่า Resident permit และบัญชีธนาคารจีน เป็นต้น
การเตรียมตัวเบื้องต้นก่อนเปิดร้านออนไลน์บนเว็บไซต์ Taobao.com
ก่อนเริ่มนับหนึ่งสู่หน้าร้านออนไลน์ ผู้สนใจควรต้องมีการเตรียมสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในการยื่นขอเปิดร้านค้าออนไลน์ ดังนี้
1) การเตรียมสินค้า ได้แก่ ข้อมูลคำบรรยายรายละเอียดสินค้าภาษาจีน ภาพถ่ายสินค้า
2) การเตรียมเอกสาร ได้แก่ หนังสือเดินทางต่างประเทศ วีซ่าเข้าประเทศจีน (หรือใบอนุญาตพำนักในท้องถิ่น Resident permit) บัญชีธนาคารจีนที่เปิดกับสาขาในประเทศจีน และเปิดใช้บริการธนาคารออนไลน์ หรือ Online Banking แล้ว
3) การเตรียมอุปกรณ์เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ติดตั้งโปรแกรมบราวเซอร์ Internet Explorer 6.0 ขึ้นไป ติดตั้งซอฟท์แวร์พิมพ์ดีดภาษาจีน และ หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจีนที่เปิดบริการรับ SMS ได้จากต่างประเทศ (SMS Roaming)
ขั้นตอนการเปิดร้านค้าออนไลน์บนเว็บไซต์ Taobao.com
1. การสมัครเป็นสมาชิกทั่วไปบนเว็บไซต์ Taobao.com
2. การยืนยันชื่อ-สกุลจริงของบัญชีผู้ใช้ Taobao กับบัญชีธนาคาร 实名认证
3. การยืนยันข้อมูลรายละเอียดของผู้ขาย 店铺所有人认证
4. การทำแบบทดสอบความรู้กฏระเบียบการขายสำหรับผู้เปิดร้านค้าออนไลน์
5. การลงข้อมูลรายละเอียดของร้านค้า
 วิธีการสมัครแบบละเอียดเข้าไปที่ คลังบทความ
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/detail.php?sid=511&ID=13118&phrase_id=1096188

ที่มา :คลังบทความ
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/detail.php?sid=511&ID=13118&phrase_id=1096188

การส่งออกสินค้าไปจีน ตอน 4

การขนส่งและการผ่านพิธีการศุลกากร
How to export to China? 
มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!


บทความในตอนที่ผ่านมาได้อธิบายถึงการจัดเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีน ซึ่งมีทั้งเอกสารที่ศุลกากรไทยใช้ตรวจปล่อยสินค้าออกจากไทย และเอกสารที่ศุลกากรจีนใช้ตรวจสอบก่อนอนุญาตให้นำเข้าสินค้าสู่จีน ขั้นตอนต่อไปหลังจากที่เตรียมเอกสารทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว คือ การดำเนินการเพื่อจัดส่งสินค้าจากไทยสู่จีน

สำหรับขั้นตอนการขนส่งสินค้านั้น ผู้ส่งออกจำเป็นจะต้อง ศึกษาข้อกำหนดการส่งมอบสินค้า (Incoterms) รวมถึงการประกันภัยสินค้า ในกรณีที่ Incoterms ครอบคลุมความรับผิดชอบด้านประกันภัยถึงผู้ส่งออกด้วย อีกทั้งการผ่านพิธีศุลกากรของทั้งฝั่งไทยและฝั่งจีน โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนขอนำเสนอข้อมูลดังกล่าวผ่านบทความตอนที่ 4 เรื่อง "การขนส่งและการผ่านพิธีการศุลกากร" ซึ่งเป็น ตอนจบของบทความชุด How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!

"Incoterms" รู้จักไว้.. เลือกใช้ตามความเหมาะสม

ระหว่างการตกลงซื้อขายสินค้า ผู้ส่งออกจะต้องหารือกับผู้ซื้อแล้วว่าจะใช้เงื่อนไขการมอบสินค้า (Incoterms) แบบไหน โดยแต่ละ Incoterms ได้กำหนดให้ผู้ขายแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ส่งออกจึงควรศึกษาทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนตัดสินใจว่าจะส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อในลักษณะใด โดยปัจจุบันสภาหอการค้านานาชาติ (ICC: International Chamber of Commerce) ได้กำหนด Incoterms ล่าสุดประจำปี ค.ศ. 2010 ไว้เป็นแนวทางสำหรับคู่ค้าใช้พิจารณาเลือกใช้รวมทั้งสิ้น 10 ประเภท ได้แก่

EXW (Ex Works)

ผู้ขายรับภาระจัดเตรียมสินค้าสำหรับส่งมอบให้กับผู้ซื้อ ณ สถานที่ของผู้ขาย (ส่งมอบ ณ โรงงาน) โดยผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดกระบวนการขนส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางของตนเอง

FCA (Free Carrier)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งซึ่งกำหนดโดยผู้ซื้อ โดยผู้ขายต้องทําพิธีการส่งออก รวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าและความเสี่ยงภัยตลอดระยะการขนส่งจากสถานที่ของผู้ขายไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งด้วย ขณะที่ผู้ซื้อจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการขนสินค้าและ ความเสี่ยงภัยไปยังจุดหมายปลายทางของตนเอง

FAS (Free Alongside Ship)

ผู้ขายรับภาระนําสินค้าส่งไปยังกราบเรือ ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ซื้อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนำสินค้าของขึ้นเรือ ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ความเสี่ยงภัยในการนำของขึ้นเรือและระหว่างขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง รวมถึงต้องรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกเองด้วย

FOB (Free On Board)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกด้วย ขณะที่ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งตั้งแต่ที่สินค้าผ่านกราบระวางเรือไปแล้ว

CFR (Cost and Freight)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ขายรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกและจ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า ขณะที่ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งตั้งแต่ที่สินค้าผ่านกราบระวางเรือไปแล้ว

CIF (Cost, Insurance & Freight)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ โดยผู้ขายจะต้องรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออก อีกทั้งจ่ายค่าระวางเรือ และค่าประกันภัยระหว่างการขนส่งสินค้าถึงเมืองท่าปลายทาง

CPT (Carriage Paid To)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งสินค้าซึ่งระบุโดยผู้ซื้อ ณ เมืองท่าต้นทาง โดยผู้ขายจะรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออกและจ่ายค่าระวางขนส่งสินค้าด้วย ขณะที่ผู้ซื้อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งตั้งแต่ที่สินค้าถูกส่งมอบให้ แก่ผู้รับขนส่งสินค้า ณ เมืองท่าต้นทาง

CIP (Carriage and Insurance Paid To)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ของผู้รับขนส่งสินค้าซึ่งระบุโดยผู้ซื้อ ณ เมืองท่าต้นทาง โดยผู้ขายรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออก จ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า และค่าประกันภัยระหว่างการขนส่งสินค้าถึงเมืองท่าปลายทาง

DAT (Delivered At Terminal)

เป็นเทอมใหม่แทน DEQ โดยผู้ขายตามเทอม DAT รับภาระขนถ่ายสินค้าลงจากยานพาหนะที่บรรทุกไปไว้ยังสถานที่ที่ผู้ซื้อจัดไว้ ณ อาคารขนถ่ายสินค้าที่ท่าปลายทางหรือสถานที่ที่ระบุไว้

DAP (Delivered At Place)

เป็นเทอมใหม่แทน DAF , DES , DEQ และ DDU โดยผู้ขายตามเทอม DAP ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ยกเว้นค่าภาษีและพิธีการนำเข้า รวมถึงจะต้องรับความเสี่ยงภัยจนสินค้าถึงจุดหมายปลายทาง

DDP (Delivered Duty Paid)

ผู้ขายรับภาระส่งมอบสินค้า ณ สถานที่ปลายทางของผู้ซื้อ โดยผู้ขายรับผิดชอบเรื่องพิธีการส่งออก จ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า ค่าประกันภัยขนส่งสินค้า รวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งค่าใช้จ่ายในการนําของลงจากเรือและค่าขนส่งสินค้าไปยังสถานที่ที่ ผู้ซื้อระบุไว้ ตลอดจนต้องดําเนินพิธีการนําเข้าสินค้าและจ่ายค่าภาษีนําเข้าแทนผู้ซื้อด้วย

หมายเหตุ : สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Incoterms ได้ที่เว็บไซต์ www.livingstonintl.com เมนู Resources เลือก Shipping หัวข้อ “Incoterms® 2010”

ขนส่งออกไทย.. ติดต่อผู้ให้บริการโลจิสติกส์


สำหรับเรื่องการขนส่งสินค้าออกจากไทยนั้น ตามปกติแล้ว ผู้ส่งออกจะติดต่อกับบริษัทโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ช่วยดำเนินการขนส่งสินค้าตามเงื่อนไขที่ได้เจรจาไว้กับผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าในจีน โดยบริการของบริษัทโลจิสติกส์มีตั้งแต่การติดต่อบริษัทตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) เพื่อดำเนินการเรื่องการจองระวางเรือ (หรือพื้นที่ระวางสินค้าทางบก/อากาศ) การบรรจุสินค้า การขนส่ง การดำเนินพิธีศุลกากรขาออกจากไทย การจัดการเกี่ยวกับเอกสารส่งออกและนำเข้า หรือการประกันภัยระหว่างการขนส่งสินค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัท Freight Forwarder บางรายอาจรับทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการจัดหาและจัดการขนส่งสินค้าของผู้ส่งออกไปยังเมืองท่าปลายทาง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ส่งสินค้า หรือทำหน้าที่เป็นผู้ขนส่งสินค้าโดยตรง ซึ่งอาจเป็นผู้ประกอบการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transport Operator) หรือเป็นผู้ให้บริการที่ไม่ใช่เจ้าของเรือ (Non-Vessel Operating Common Carrier : NVOCC) ซึ่ง Freight Forwarder จะมีสถานะเสมือนหนึ่งผู้รับขนส่งสินค้าที่สามารถจะลงนามในใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading) ได้ด้วย

ผู้ส่งออกสามารถค้นหารายชื่อบริษัทตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและบริษัทชิปปิ้งได้ที่

สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย http://www.ctat.or.th เมนูรายชื่อสมาชิก
สำนักโลจิสติกส์การค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.tradelogistics.go.th เลือกเมนูค้นหา LSP- Logistics Service Provider
ฝ่ายโลจิสติกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbdlogistics.com/search.html หน้าค้นหาผู้ประกอบการ โลจิสติกส์
ติดต่อประกันภัย.. ตามเงื่อนไข Incoterm


สำหรับเงื่อนไขเทอมการค้า (Incoterm) CIF และ CIP นั้น ผู้ขาย (ผู้ส่งออก) มีหน้าที่รับผิดชอบครอบคลุมถึงเรื่องการประกันภัยระหว่าง การขนส่งสินค้าด้วย ดังนั้น ก่อนการขนส่งจึงต้องติดต่อกับบริษัทผู้ให้บริการประกันภัยขนส่งสินค้าเพื่อจัดซื้อประกันภัยดังกล่าว

การประกันภัยสำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเลของไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งกำหนดขอบเขตการคุ้มครองครอบคลุมถึงเรื่องการประกันความเสียหายแก่เรือ การประกันภัยตัวเรือ (Hull) และทรัพย์สิน หรือการประกันภัยสินค้า (Cargo) ที่อยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเล รวมถึงยังขยายขอบเขตความคุ้มครองไปถึงการขนส่งสินค้าทางบกและทางอากาศ ซึ่งต่อเนื่องกับการขนส่งทางทะเลด้วย

ทั้งนี้ ผู้ซื้อประกันภัยสามารถเลือกเงื่อนไขและขอบเขตความคุ้มครองตามชุดเงื่อนไขการประกันภัยที่ในตลาดการประกันภัยทางทะเลและขนส่งของประเทศไทย (อ้างอิงใช้ตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกลุ่มผู้รับประกันภัยที่ใช้ ในอังกฤษ) โดยมีชุดเงื่อนไขความคุ้มครองที่นิยมเลือกใช้รวม 3 ชุด ซึ่งมีขอบเขตความเสี่ยงภัยที่คุ้มครองลดหลั่นลงไปตามลำดับ ได้แก่ The Institute Cargo Clauses ‘A’ Clauses ‘B’ และ Clauses ‘C’ ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภัยที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง และการขอรับเงินประกันภัยได้ที่ www.oic.or.th/th/elearning/index2.php และสามารถค้นหารายชื่อบริษัทที่รับประกันวินาศภัยทางทะเลได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมประกันวินาศภัยไทย www.thaigia.com/Member.html

“E-Customs” บริการใหม่.. ผ่านพิธีศุลกากรไทยสะดวกสบาย


ปัจจุบัน กรมศุลกากรไทยใช้กระบวนการผ่านพิธีการทางศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาติดต่อ ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลด้านการส่งออกแบบไร้เอกสาร (paperless) พร้อมลงรายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (digital signature) ของเจ้าของลายมือชื่อ โดยเมื่อระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรยืนยันและตอบรับความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ส่งออกยื่นผ่านระบบแล้ว ก็ถือว่าเป็นการยื่นเอกสารผ่านพิธีการที่เสร็จสิ้นเรียบร้อยและถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร

การผ่านพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1) การจัดทำใบขนสินค้าขาออก 2) การบรรจุสินค้าและการจัดทำใบกำกับการขนย้ายสินค้า 3) การขนย้ายสินค้าผ่านสถานีรับบรรทุก ณ ท่าเรือ/สนามบินที่ส่งออก 4) การตัดบัญชีใบกำกับการขนย้าย และ 5) การรับบรรทุกของส่งออก โดยสามารถศึกษาวิธีการดำเนินการแต่ละขั้นตอนเพิ่มเติมได้ที่ www.cdscom.co.th/contents/public/paperlesscustoms/Customs/export.pdf

ทั้งนี้ วิธีการส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกกระทำได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ 1) ผู้ส่งออกส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกด้วยตนเอง 2) ผู้ส่งออกมอบหมายให้ตัวแทนออกของ (Customs Broker) เป็นผู้ส่งข้อมูลแทน 3) ผู้ส่งออกใช้บริการที่เคานท์เตอร์กรมศุลกากรในการส่งข้อมูล และ 4) ผู้ส่งออกยื่นใบขนสินค้าขาออก พร้อมแนบรายละเอียดข้อมูลใบขนสินค้าและชำระค่าธรรมเนียมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ด่าน/ท่าเรือ/สนามบินที่ส่งของออก โดยทั่วไปผู้ส่งออกนิยมให้ "ตัวแทนผู้ออกของ" หรือ Custom Broker ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการผ่านพิธีการทางศุลกากรแทนตนเอง โดยสามารถค้นหารายชื่อตัวแทนผู้ออกของอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สมาคมตัวแทนออกของอิเล็กทรอนิกส์ไทย www.eca.or.th

นอกจากนี้ บริษัทชิปปิ้งบางรายอาจมีสถานะเป็น Customs Broker ด้วย ผู้ส่งออกจึงอาจพิจารณาเลือกใช้บริการของบริษัทชิปปิ้งดังกล่าวในการดำเนินการพิธีการศุลกากรแทนผู้ส่งออกได้ โดยบริษัทชิปปิ้งจะช่วยจัดทำ ใบขนสินค้า ยื่นใบขนสินค้าต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ด่านศุลกากรเพื่อให้มีการตรวจปล่อยสินค้าออกจากไทย และเมื่อสินค้าส่งถึงที่หมาย ณ ประเทศจีนแล้ว ก็ดำเนินพิธีการศุลกากรฝั่งขาเข้าจีนเพื่อส่งมอบสินค้าที่นำเข้ามาให้แก่ผู้นำเข้าได้ด้วย


ผ่านพิธีการขาเข้า.. ช่วยแบ่งเบาด้วย “Customs Broker”

เมื่อสินค้าส่งถึงท่าเรือ/ท่าอากาศยานของจีนแล้ว จำเป็นจะต้องมีตัวแทนผู้ออกของ (Customs Broker) ในจีนที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรจีน สำหรับทำหน้าที่ดำเนินพิธีการศุลกากรฝั่งขาเข้าจีน เพื่อจัดการให้สินค้าได้รับอนุญาตตรวจปล่อยผ่านเข้าอาณาเขตของประเทศจีนจากศุลกากรจีนก่อน แล้วจึงจะสามารถจัดส่งสินค้าถึงผู้รับ (ผู้ซื้อ) ได้ในลำดับต่อไป

การผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้าประเทศจีนนั้น อาจพิจารณาใช้บริการของบริษัท Customs Broker ที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นจีน หรือบริษัทจีนที่มีเครือข่ายความร่วมมือกับบริษัทโลจิสติกส์ฝั่งไทย ทั้งนี้ หากคู่ค้าจีนของผู้ส่งออกเป็นผู้นำเข้าสินค้าในจีนที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว อาจสอบถามคู่ค้าจีนถึงรายชื่อบริษัท Customs Broker ในจีนที่รับดำเนินพิธีการทางศุลกากรจีนได้เช่นกัน


หลังส่งสินค้าออกจากไทย.. อย่าลืมไปขอคืนภาษีอากร

ตามนโยบายสนับสนุนการส่งออกของประเทศไทย กระทรวงการคลังกำหนดให้ผู้ส่งออกสินค้าจากไทยไปต่างประเทศสามารถยื่นเรื่องกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอคืนภาษี/อากรบางประเภทได้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่ซื้อมาจากในไทย/สินค้าที่ผลิตหรือใช้วัตถุดิบในไทย และภาษี/อากรนำเข้าสำหรับสินค้าส่งออกที่ใช้วัสดุจากต่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้น หากได้ดำเนินการส่งสินค้าออกจากไทยไปจุดหมายปลายทางที่จีนเรียบร้อยแล้ว ผู้ส่งออกอย่าลืมดำเนินการเพื่อขอคืนภาษีอากรดังกล่าวด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรมสรรพากร
สิ่งที่จะได้รับคืนภาษี สินค้าหรือวัตถุดิบที่หาซื้อจากในไทย โดยราคาที่ซื้อมามีภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ด้วย
วีธีการยื่นขอคืนภาษี ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชําระภาษีและขอคืนภาษีมูลค่า รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และใบกํากับภาษีที่ถูกต้อง ทั้งนี้ หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อก็จะสามารถขอคืนภาษีได้โดยสามารถขอคืนได้ในรูปแบบเครดิตภาษี (นำส่วนต่างหักลบจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องชำระในเดือนถัดไป) หรือคืนในรูปแบบเงินสดผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th เมนู "ความรู้เรื่องภาษี" เมนูย่อยด้านซ้าย "ผู้ประกอบการส่งออก"
2. การขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ

ตามมาตรา 19 ทวิแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ได้กำหนดให้ผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศสามารถขอคืนค่าภาระภาษีอากรต่างๆ ได้ อาทิ อากรขาเข้า ค่าธรรมเนียมภาษีอื่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย เป็นต้น ซึ่งผู้นำของเข้าได้เสียหรือวางประกันไว้ขณะนำเข้า โดยเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้นำวัตถุดิบนั้นไปผลิตผสม ประกอบหรือบรรจุเป็นสินค้าส่งออกแล้ว ก็จะได้รับการคืนอากรโดยจะคำนวณค่าภาษีอากรที่คืนให้ตามสูตรการผลิต ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าจะต้องผลิตและส่งออกภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้นำเข้า และต้องขอคืนเงินอากรภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นออกไป

หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรมศุลกากร
สิ่งที่จะได้รับคืนภาษี 1. วัตถุดิบที่เห็นได้ชัดว่ามีอยู่ในของที่ผลิตเพื่อส่งออก
2. วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโดยตรงที่มีอยู่ในของที่ผลิตส่งออก แต่ไม่ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน
3. วัตถุดิบจำเป็นที่ใช้ในการผลิต
วีธีการยื่นขอคืนภาษี ผู้นำของเข้าจะต้องยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ (แบบ กศก.29) ต่อส่วนคืน และชดเชยอากร สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ซึ่งต้องแจ้งความจำนงต่อกรมศุลกากร และยื่นเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถศึกษาขั้นตอนและเงื่อนไขการยื่นขอคืนได้ที่เว็บไซต์กรมศุลกากร www.customs.go.th เมนูด้านซ้าย "สิทธิประโยชน์ทางศุลกากร" หัวข้อ "การคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ"
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความชุดเรื่อง How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!! ทั้ง 4 ตอน จะมีส่วนช่วยเพิ่มพูนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนให้กับผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดจีน ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจมีคำถามเพิ่มเติมประการใด ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนทั้ง 9 แห่งมีความยินดีและพร้อมให้บริการข้อมูลทุกท่านเสมอ

ที่มา : http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/start/step_exports.php

การส่งออกสินค้าไปจีน ตอน 3

จัดเตรียมเอกสารก่อนส่งออกไปจีน
How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!


บทความในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงกฎระเบียบของไทยเกี่ยวกับการส่งออกสินค้า ซึ่งครอบคลุมข้อมูลเกี่ยวกับประเภทสินค้าที่สามารถส่งออกได้ และสินค้าที่มีการกำหนดมาตรฐานและมาตรการการส่งออก ตลอดจนได้แนะนำถึงการเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้ส่งออกสินค้าของไทย โดยหากได้ศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนและเตรียมตัวพร้อมที่จะส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนแล้ว สิ่งสำคัญลำดับต่อไป คือ การจัดเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการส่งออกจากไทยและนำเข้าสู่จีน

ในการจัดเตรียมเอกสาร ผู้ส่งออกไทยต้องศึกษาว่า เอกสารใดที่หน่วยงานไทยจะตรวจสอบก่อนปล่อยสินค้าออกจากไทย และเอกสารใดที่หน่วยงานจีนจะตรวจสอบก่อนอนุญาตให้นำเข้าสู่จีน ตลอดจนหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบออกเอกสารดังกล่าวให้กับผู้ส่งออกของไทย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนขอนำเสนอบทความตอนที่ 3 เรื่อง “จัดเตรียมเอกสารก่อนส่งออกไปจีน” สำหรับให้ผู้ส่งออกไทยได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นและเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินการส่งออกสินค้าไปจีน

ก่อนออกจากไทย.. เอกสารใดต้องใช้บ้าง?

โดยทั่วไปแล้ว ก่อนการส่งสินค้าออกจากไทยจำเป็นต้องจัดเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบกับการส่งออกสินค้านั้นๆ เช่น ใบอนุญาตส่งออก ใบรับรองมาตรฐานสินค้า ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ในการผ่านพิธีการทางศุลกากรของไทย หากจัดเตรียมไม่ครบศุลกากรไทยจะไม่อนุญาตให้นำสินค้าออกนอกราชอาณาจักร

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าแต่ละประเภทจะมีขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารที่แตกต่างกัน และหน่วยงานไทยผู้รับผิดชอบด้านการออกเอกสารดังกล่าวก็แตกต่างกันด้วย อาทิ ปลาน้ำจืด จะต้องขอใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำจาก กรมประมง น้ำตาล จะต้องใบอนุญาตส่งออกจากกระทรวงอุตสาหกรรม หรือผลิตภัณฑ์ยา จะต้องขอใบรับรองวิธีการ ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานยาจากกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ เป็นต้น โดยข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารการส่งออกแบ่งตามรายการสินค้าสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th เมนูหลัก "กฎระเบียบ" เมนูย่อย "กฎระเบียบขั้นตอนการส่งออกรายสินค้า" หรือสามารถคลิกหมวดหมู่รายการสินค้าดังต่อไปนี้ เพื่อลิงค์ไปยังเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมการค้าฯ ในหน้ากฎระเบียบการจัดเตรียมเอกสารส่งออกและหน่วยงานที่รับผิดชอบออกเอกสาร

สินค้าอาหาร
อาหาร
เครื่องดื่ม
สินค้าเกษตร
ไม้ดอก ไม้ประดับ
ข้าว
ยาง
สินค้าไลฟ์สไตล์ / OTOP
เฟอร์นิเจอร์
ของใช้ในบ้าน
ของขวัญและเครื่องตกแต่งบ้าน
ของเล่น
เครื่องเขียนและสิ่งพิมพ์
สินค้าอุตสาหกรรม
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์
วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง
ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า
พลาสติก ยางพาราและผลิตภัณฑ์
เครื่องจักรกล
เชื้อเพลิง
สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม
เคมีภัณฑ์
เครื่องสำอาง
ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม
สินค้าอื่นๆ
ผลิตภัณฑ์สำหรับทารก
เบ็ดเตล็ด
ธุรกิจบริการ
สินค้าแฟชั่น
อัญมณีและเครื่องประดับ
เครื่องหนัง
รองเท้า
สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป
มีเอกสารใด.. ที่ต้องใช้ผ่านด่านจีน?
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในบทความตอนที่ 1 การส่งออกสินค้าไปยังจีนนอกจากจำเป็นต้องเตรียมสินค้าให้ได้ตามข้อกำหนดทางการจีนแล้ว ยังจะต้องจัดเตรียมเอกสารอื่นๆ ที่ต้องยื่นขอตั้งแต่อยู่ที่ไทยเพื่อใช้ในจีนอีกด้วย
       ทั้งนี้ หลังจากจัดเตรียมเอกสารสำหรับผ่านพิธีการศุลกากรฝั่งไทยตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเรียบร้อยแล้ว ยังต้องเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการผ่านพิธีการศุลกากรจีนและสำนักงานตรวจสอบคุณภาพ ควบคุมและกันกันโรคของจีน ณ ด่านจีน (CIQ) ด้วย อาทิ
หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ประเภท Form E
สินค้าส่งออกจากไทยที่ต้องการใช้สิทธิลดภาษีนำเข้าจีนตามเงื่อนไขข้อตกลงการค้าเสรีจีน – อาเซียนนั้น จะต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ประเภท ‘Form E’ ซึ่งเป็นการรับรองว่า สินค้าที่จะส่งออกดังกล่าวประกอบด้วยวัตถุดิบภายในประเทศ มีการผลิตหรือผ่านขั้นตอนกระบวนการผลิตภายในประเทศไทย โดยผู้ประกอบการส่งออกสามารถยื่นขอหนังสือรับรองดังกล่าวได้จากหน่วยงานไทยที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่กรมการค้าต่างประเทศ (ศึกษาขั้นตอนการยื่นขอได้ที่ www.dft.go.th เมนูหลัก “บริการจากกรม” เมนูย่อย "บริการอิเล็กทรอนิกส์" หัวข้อ "ระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า" หัวข้อย่อย “ดาวน์โหลด”)
หอการค้าแห่งประเทศไทย (ศึกษาขั้นตอนการยื่นขอได้ที่ http://www.thaichamber.org เมนูหลัก “TCC SERVICES” เมนูย่อย “รับรองเอกสารเพื่อการส่งออก C/O”)
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ศึกษาขั้นตอนการยื่นขอได้ที่ www.fti.or.th เมนูหลัก “ผลิตภัณฑ์และบริการ” เมนูย่อย “ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า”)ใบรับรองมาตรฐานสินค้าอื่นๆ เฉพาะรายการ

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในบทความตอนที่ 1 ถึงเรื่องข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าที่จะนำเข้าจีน ซึ่งต้องมีการยื่นขอใบรับรองต่างๆ ก่อน เช่น ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์เกษตร ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง ใบอนุญาตนำเข้ายางพาราหรือสินค้าหมวดพิเศษ ใบรับรองฟาร์มปศุสัตว์ เป็นต้น โดยสามารถศึกษาระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานและรายละเอียดของใบรับรองต่างๆ ที่ทางการจีนกำหนดได้ที่เว็บไซต์ www.aqsiq.gov.cn หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บริษัท ซี.ซี.ไอ.ซี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) โทรศัพท์ (02) 237-7740 เว็บไซต์ www.ccicthai.comใบรับรองเครื่องหมาย CCC Mark (China Compulsory Certificate)"CCC Mark" เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าอุตสาหกรรมที่จะส่งเข้าสู่ประเทศจีน เพื่อจำหน่ายหรือใช้ในกระบวนการผลิตต่อ ซึ่งจะต้องตีประทับบนตัวสินค้านั้นๆ โดยกำหนดให้ใช้กับสินค้า 10 ประเภท ได้แก่

ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฟฟ้า
ผลิตภัณฑ์ด้านการสื่อสาโทรคมนาคม
อุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย
รถยนต์
วัสดุก่อสร้าง
ผลิตภัณฑ์ยางพารา
เครื่องจักรกลการเกษตร
กระจกนิรภัย
เคื่องดนตรี / ของเล่น
อุปกรณ์การแพทย์
ทั้งนี้ ใบรับรองสินค้าประเภทต่างๆ ข้างต้นจะต้องยื่นขอและได้รับอนุมัติจากหน่วยงานจีน โดยสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการยื่นขอ CCC Mark และหน่วยงานที่รับผิดชอบการออกใบรับรองได้ที่
1) ศูนย์รับรองคุณภาพแห่งประเทศจีน http://www.cqc.com.cn เมนูหลัก “Certification” หัวข้อ “Product Certification”
2) ศูนย์ความรู้เพื่อการค้าและการลงทุนกับจีน http://www.chineselawclinic.moc.go.th เมนู "การขอฉลากสินค้า" หัวข้อ "มาตรฐานบังคับ CCC Mark"
รับรองลายมือชื่อ.. สำหรับหนังสือที่ต้องแปล
เอกสารบางประเภทที่ออกจากฝั่งไทยและต้องการนำเข้าไปใช้ในจีน จำเป็นจะต้องมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และ/หรือรับรองว่า ลายมือชื่อ/ตราประทับที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวเป็นลายมือชื่อและตราประทับของผู้ที่มีอำนาจลงนามของหน่วยงานที่รับผิดชอบดังกล่าวจริง ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการการรับรองจากกรมการกงสุล กระทรวง การต่างประเทศ โดยเอกสารที่อาจต้องทำการรับรองก่อนใช้ในจีน อาทิ
หนังสือรับรองจากหน่วยงานไทย
หนังสือรับรองที่กล่าวในข้างต้น อาทิ ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์เกษตร ใบรับรองฟาร์มปศุสัตว์ ใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งออกโดยหน่วยงานไทย
เอกสารทางการค้า
เช่น หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งทางการจีนอาจเรียกตรวจสอบสำหรับกรณีนำเข้าสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะสินค้าที่มีข้อกำหนดมาตรการ ทางการค้า อาทิ สินค้ามีโควต้า เป็นต้น

หมายเหตุ :

(1) ศึกษารายละเอียดการเตรียมเอกสารเพื่อขอยื่นคำร้องขอรับรองเอกสารและค่าธรรมเนียมการรับรองของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศได้ที่ http://www.consular.go.th เมนู “บริการ” หัวข้อ “รับรองเอกสาร”
(2) หลังจากที่กรมการกงสุลรับรองลายมือชือของเอกสารแล้ว จะต้องผ่านการรับรองลายมือชื่ออีกครั้งจากหน่วยงานจีนที่อยู่ในไทยก่อน กล่าวคือ สถานทูตจีนหรือสถานกงสุลจีนที่ตั้งอยู่ในไทย โดยสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับบริการรับรองเอกสาร รับรองลายมือชื่อ ได้ที่ http://th.china-embassy.org/th/lsfw/gzrz/t571146.htm
สำหรับบทความในตอนที่ 3 นี้น่าจะทำให้ผู้ส่งออกไทยทราบข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ประกอบ การส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนในเบื้องต้นแล้ว โปรดติดตามบทความตอนต่อไป ซึ่งจะแนะนำถึงข้อมูลเกี่ยวกับ การขนส่งและการผ่านพิธีการศุลกากร เร็วๆ นี้

ที่มา : ลงมือทำ
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/start/step_exports.php

การส่งออกสินค้าไปจีน ตอน 2

ตอนที่ 2 : ศึกษาเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกไทย
How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!

จากบทความตอนแรกที่ได้กล่าวถึงกฎระเบียบของจีนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าสู่จีนและสิทธิประโยชน์ทางภาษีนำเข้าที่จะได้รับ ซึ่งเป็นข้อมูลให้ผู้ส่งออกของไทยใช้พิจารณาว่าสินค้าของตนเองมีความพร้อมที่จะส่งออกไปจีนหรือไม่ หากว่าสินค้ามีความพร้อมตามข้อกำหนดของทางการจีนและประเมินว่ามีโอกาสเติบโตในตลาดจีนแล้ว สิ่งสำคัญลำดับต่อไป คือ การศึกษากฎระเบียบในส่วนของไทย

ทั้งนี้ จำเป็นต้องศึกษาว่าไทยอนุญาตให้ส่งออกสินค้าประเภทใดบ้าง และสินค้าแต่ละประเภทมีข้อกำหนดและขั้นตอนการขออนุญาตส่งออกอย่างไร ตลอดจนศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกสินค้าของไทย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนจึงขอนำเสนอข้อมูลดังกล่าวข้างต้นผ่านบทความตอนที่ 2 เรื่อง "ศึกษาเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกไทย"


รู้จักสินค้า.. ก่อนเดินหน้าส่งออก

ในเบื้องต้น ก่อนการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนหรือประเทศอื่นๆ จำเป็นจะต้องศึกษาดูว่าทางการไทยอนุญาตให้ส่งออกสินค้าประเภทใดบ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับตัวสินค้าที่สนใจจะส่งออก โดยปัจจุบันไทยได้แบ่งสินค้าส่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

สินค้ากำหนดมาตรฐานส่งออก
สินค้ากำหนดมาตรการส่งออก
สินค้ากำหนดโควต้าส่งออก และ
สินค้าทั่วไป
1) สินค้ากำหนดมาตรฐานส่งออก

พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2522 ได้กำหนดมาตรฐานสำหรับสินค้าส่งออกของไทย เพื่อเป็น การรักษามาตรฐานที่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด และควบคุมคุณภาพของสินค้าที่จะส่งออกจากไทย ตลอดจนสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้นำเข้าในต่างประเทศ และสร้างศักยภาพในการแข่งขันแก่สินค้าส่งออกของไทยด้วย

ปัจจุบัน ไทยกำหนดสินค้าที่มีมาตรฐานส่งออก 10 รายการ ได้แก่ ข้าวโพด ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวฟ่าง แป้งมันสำปะหลัง ปลาป่น ไม้สักแปรรูป ปุยนุ่ย ถั่วเขียว และถั่วเขียวผิวดำ โดยสามารถดูข้อมูลอ้างอิงได้จากเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ของไทย www.moc.go.th

หมายเหตุ :

(1) การส่งออกสินค้า 10 รายการข้างต้น ผู้ประกอบการจะต้องยื่นเรื่องเพื่อขอบัตรประจำตัวผู้ส่งออกก่อน (จะกล่าวถึงรายละเอียดในลำดับต่อไป) โดยหลังจากที่ได้รับบัตรประจำตัวผู้ส่งออกแล้ว จำเป็นจะต้องยื่นคำร้องเพื่อขอเป็นผู้ส่งออกสินค้าที่มีมาตรฐานดังกล่าวกับสำนักงานมาตรฐานสินค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดขั้นตอนในการยื่นจดทะเบียนได้ที่ http://ocs.dft.go.th เมนู “ผู้ทำการค้า ขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐาน”

(2) หลังจากที่ยื่นคำร้องแล้ว จะต้องนำสินค้าที่ต้องการส่งออกให้สำนักงานตรวจสอบมาตรฐาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือนิติบุคคล/ส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ ทำการตรวจสอบสินค้าดังกล่าว

(3) หลังจากสินค้าผ่านเกณฑ์การตรวจสอบแล้ว จะได้รับ “ใบรับรองมาตรฐานสินค้า” จากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งจะใช้เป็นเอกสารประกอบการส่งออกสินค้า 10 รายการข้างต้น

2) สินค้ากำหนดมาตรการส่งออก

พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดมาตรการสำหรับ การส่งออกสินค้าจากไทย เพื่อเป็นการจัดระเบียบควบคุมการส่งออกให้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลไทยกำหนดเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและประโยชน์ของชาติ ตลอดจนเป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศด้วย

ปัจจุบัน ไทยแบ่งสินค้าที่มีมาตรการการส่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สินค้าห้ามส่งออก สินค้าที่ต้อง ขออนุญาตส่งออก และสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง/ขึ้นทะเบียน/ขึ้นบัญชีประกอบการส่งออก

สินค้าห้ามส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ประกาศห้ามส่งออก “ทราย” เพื่อสงวนไว้ใช้สำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ และเพื่อเป็นการป้องกันการทำลายสภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

สินค้าที่ต้องขออนุญาตส่งออก

1) สินค้าเกษตรกรรม ได้แก่

ข้าว / ข้าวส่งออกภายใต้โควต้าภาษีของสหภาพยุโรป
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
ไม้และไม้แปรรูป
กาแฟ
กากถั่ว
ถ่านไม้
ช้าง
กุ้งกุลาดำมีชีวิต
หอยมุกและผลิตภัณฑ์
ปลาทะเลสวยงามที่มีชีวิต
2) สินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่

น้ำตาลทราย
ถ่านหิน
เทวรูป
พระพุทธรูป
ทองคำ
สินค้ารี-เอ็กซ์ปอร์ต
แร่ที่มีทรายเป็นส่วนประกอบ
สินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง/ขึ้นทะเบียน/ ขึ้นบัญชีประกอบการส่งออก

ผัก ผลไม้
ดอกกล้วยไม้
ลำไย
ทุเรียน
กุ้ง ปลาหมึก และผลิตภัณฑ์
ปลาทูน่าบรรจุภาชนะอัดลม
สับปะรดกระป๋อง
เครื่องนุ่งห่ม ด้าย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์ทออื่นที่มิใช่เครื่องนุ่งหุ่ม
รถยนต์และชิ้นส่วนของรถยนต์ที่ส่งออกไปไต้หวัน
เพชรที่ยังไม่เจียระไน
หมายเหตุ : สามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการของสินค้าแต่ละประเภทได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ http://www.dft.go.th (หน้ามาตรการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของไทย) หรือติดต่อขอคำปรึกษาเพิ่มเติม ได้ที่สำนักมาตรการทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 0-2547-4771-86

3) สินค้าที่มีโควต้าส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดโควต้าการส่งออกสินค้าบางประเภท เพื่อเป็นการควบคุมปริมาณสินค้าที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ โดยปัจจุบันได้จำกัดปริมาณการส่งออกสินค้าสำคัญ 4 รายการ ได้แก่ 1) ข้าว 2) มันสำปะหลัง 3) น้ำตาล และ 4) ยางพาราโดยสามารถศึกษากฎระเบียบเกี่ยวกับ การส่งออกสินค้าทั้ง 4 รายการดังกล่าวได้จากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 0-2547-4771-86 หรือสายด่วนหมายเลข 1385 เว็บไซต์ http://www.dft.go.th

4) สินค้าทั่วไป

สินค้าทั่วไป หมายถึง สินค้าอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากประเภทสินค้า 3 ประเภทข้างต้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกได้โดยเสรี

เตรียมตัวทำบัตร.. ยื่นขออนุมัติเป็นผู้ส่งออก

เมื่อตรวจสอบแล้วว่าสินค้าที่ต้องการส่งออกสามารถส่งออกไปจีนได้ตามกฎระเบียบการนำเข้าของจีนและกฎระเบียบการส่งออกของไทยแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องดำเนินการ คือ การยื่นขอบัตรที่ใช้ประกอบในการส่งสินค้าไปต่างประเทศกับกระทรวงพาณิชย์ และลงทะเบียนเป็นผู้ส่งออกหรือผู้ออกของกับกรมศุลกากรไทย

1. บัตรประจำตัวผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้า

หากต้องการจะทำธุรกิจส่งออกจำเป็นจะต้องมีบัตรใบนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงสถานะการเป็น ผู้ส่งออก ซึ่งต้องใช้สำหรับติดต่อกับกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น การขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า การขออนุมัติเป็นผู้ส่งออกสินค้าที่มีมาตรฐานและมาตรการส่งออก เป็นต้น โดยสามารถติดต่อสอบถามเกี่ยวกับการทำบัตรได้ที่สำนักบริการการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 02-5474754 หรือสายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 ต่อ 4101, 4161 หรือศึกษารายละเอียดการจัดเตรียมเอกสารเบื้องต้นด้วยตนเอง และดาวน์โหลดแบบฟอร์มยื่นคำขอออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ http://www.dft.go.th/LinkClick.aspx?fileticket=WFwcHdPpdu0%3d&tabid=101

2. การลงทะเบียนเป็นผู้ส่งออกหรือผู้ออกของกับกรมศุลกากรไทย

เดิมทีผู้ที่ทำธุรกิจส่งออกจะต้องทำบัตรฐานข้อมูลประจำตัวกับกรมศุลกากรไทย เพื่อใช้แสดงสำหรับดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากร แต่ปัจจุบันกรมศุลกากรได้เปิดให้บริการพิธีการศุลกากรการส่งออกระบบไร้เอกสาร (paperless) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และได้ยกเลิกใช้บัตร Smart Card ดังกล่าวแล้ว ซึ่งผู้ที่จะทำธุรกิจส่งออกจำเป็นต้องลงทะเบียนกับกรมศุลกากรก่อนจึงจะสามารถใช้บริการดังกล่าวได้ โดยสามารถศึกษาวิธีการลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์กรมศุลกากร http://www.customs.go.th เมนูหลัก "ผู้ประกอบการ" เมนูย่อย "การลงทะเบียนเป็นผู้นำเข้า - ส่งออก / การขออนุญาตเป็นตัวแทนออกของ" หรือติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศุลกากร หมายเลข 1164

เข้าร่วมสมาชิกหน่วยงาน.. รับข้อมูลข่าวสารเป็นประโยชน์

นอกจากผู้ส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศจะศึกษาข้อมูลหรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการส่งออกจากหน่วยงานต่างๆ ของไทยแล้ว ยังอาจพิจารณาสมัครเป็นสมาชิกของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ด้วย เช่น การสมัครสมาชิกรายชื่อผู้ส่งออกสินค้าไทย (Exporter List E.L.) กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสมาชิกสามารถได้รับการสนับสนุนด้านบริการต่างๆ ของกรมฯ อาทิ การรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกฎระเบียบที่อัพเดทใหม่ ข่าวสารการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกต่างๆ เป็นต้น โดยกรมฯ ได้จะจัดแบ่งประเภทของสมาชิกผู้ส่งออกตามประสบการณ์ด้านการส่งออกเป็น 4 กลุ่มประเภทใหญ่ ได้แก่ 1) สมาชิกที่มีประสบการณ์การส่งออกแล้ว 2) สมาชิกที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการส่งออก 3) สมาชิกประภทกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (OTOP) และ 4) สมาชิกประเภทกลุ่มธุรกิจบริการ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดการสมัครสมาชิกได้ที่ http://www.ditp.go.th/Exporter/Intro.htm

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังสามารถพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภา ผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือสมาคมการค้าที่สำคัญของไทยตามประเภทสินค้าที่ต้องการส่งออก อาทิ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมยางพาราไทย สมาคมอาหารแช่แข็งไทย เป็นต้น


สำหรับบทความตอนที่ 2 นี้ น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยทราบวิธีการเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกสินค้าไทย และทราบกฎระเบียบเกี่ยวกับสินค้าที่จะส่งออกจากไทยได้ในระดับหนึ่งแล้ว โปรดติดตามบทความตอนต่อไป ซึ่งจะแนะนำถึงการเตรียมสินค้าและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการส่งออกไปยังจีน เร็วๆ นี้

ที่มา : ลงมือทำ
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/start/step_exports.php

การส่งออกสินค้าไปจีน ตอน 1

การค้า
การส่งออกสินค้าไปจีน

ตอนที่ 1 : ศึกษากฎระเบียบจีน

How to export to China? มารู้จักขั้นตอนส่งออกสินค้าไปจีนกันเถอะ!!

" ส่งออกสินค้าไทยไปจีน " เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันกำลังให้ความสนใจ สิ่งสำคัญอันดับแรกคงไม่ใช่ว่าจะขายไปให้ใครหรือจะขายได้ปริมาณเท่าไร แต่ควรเป็นการสำรวจก่อนว่า ตัวเราได้ทำการบ้านเตรียมพร้อมสำหรับการส่งออกสินค้าไปจีนได้เพียงพอแล้วหรือยัง?


ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนขอเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่กำลังสนใจจะส่งออกสินค้าไปจีน ด้วยการถ่ายทอดข้อมูล "ปูพื้นฐานความพร้อม" ก่อนการส่งออกสินค้าไปยังจีนผ่านบทความ How to export to China ซึ่งครอบคลุมข้อมูลตั้งแต่การตรวจสอบกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของทั้งไทยและจีน รวมถึงการเตรียมพร้อมในตัวสินค้า เอกสารที่ต้องใช้ในการส่งออก และการติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เป็นต้น

บทความในตอนแรกจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถสำรวจว่า สินค้าของตนมีความพร้อมสำหรับส่งออกไปจีนหรือไม่ โดยจะแนะนำข้อมูลกฎระเบียบของจีนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศว่า สินค้าใดนำเข้าได้บ้าง มีข้อจำกัดอย่างไร ต้องมีมาตรฐานระดับไหน และมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้รับหรือไม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยแน่ใจว่าสินค้าที่ตนมีอยู่พร้อมที่จะส่งออกไปจีนได้โดยจะไม่ติดอุปสรรค ณ ปลายทาง ซึ่งมีรายละเอียดที่ควรพิจารณาแบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 : ตรวจสอบประเภทสินค้านำเข้าตามกฎระเบียบจีน

รัฐบาลจีนได้มีกฎระเบียบกำหนดประเภทสินค้าที่จะนำเข้ามายังจีน เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและความมั่นคงของประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

สินค้าห้ามนำเข้า
สินค้ามีโควต้าการนำเข้าหรือมีโควต้าภาษี
สินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า และ
สินค้าทั่วไป

1) สินค้าห้ามนำเข้า

อาวุธ กระสุนปืน ระเบิด
ต้นไม้ เมล็ดพันธ์ต้นอ่อน
เงินตราปลอม หลักทรัพย์ปลอม
ปุ๋ย สารปรุงแต่ง สารหรือยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการเพาะปลูก
สารกัมมันตรังสีหรือขยะอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม
เสื้อผ้าเก่าที่ใช้แล้ว ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ที่ถูกใช้แล้ว ซากรถยนต์
สินค้าอาหารที่มีส่วนผสมของสีหรือสารปรุงแต่งอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขสั่งห้ามนำเข้า
ยาพิษที่ทำให้ถึงแก่ความตาย ยาเถื่อนที่ผิดกฏหมาย อาหารและยาหรือวัตถุอื่นใดที่นำมาพื้นที่ที่มีโรคระบาด
สิ่งพิมพ์ (ทั้งข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบดิจิทอล ฟิลม์ ภาพถ่าย) ที่เป็นอันตรายต่อสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม และศีลธรรมอันดีงามของจีน รวมถึงหนังสืออนาจาร
*** แหล่งข้อมูลจาก : ศูนย์ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานยุทธศาสตร์การพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ http://otp.moc.go.th ***

2) สินค้ามีโควต้า

หน่วยงาน National Development and Reform Commission (www.ndrc.gov.cn) จะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จีนในการกำหนดปริมาณการนำเข้าสินค้ารายปีจากต่างประเทศ และจะจัดสรรโควต้าดังกล่าวให้แก่ภาค เอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีน เพื่อดำเนินการนำเข้าต่อไป ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจดังกล่าวจะเป็นผู้บริหารจัดการโควต้าที่ได้รับจากรัฐบาลจีน โดยอาจเป็นผู้นำเข้าเองหรือรับซื้อสินค้าจากภาคเอกชนรายย่อยอื่นๆ

สินค้าที่จีนจำกัดโควต้าการนำเข้าจะมีการอัพเดทรายการและปริมาณเป็นระยะๆ โดยสามารถดูรายชื่อสินค้าได้จากประกาศในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานยุทธศาสตร์การพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ http://otp.moc.go.th โดยรายการสินค้าที่จีนกำหนดโควต้านำเข้าจากไทยในปัจจุบัน ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว ฝ้าย น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดเรพ (Rapeseed) น้ำมันปาล์ม น้ำตาล และขนแกะ (wool และ wool tops)

หมายเหตุ :

(1) ในกรณีที่ผู้ส่งออกไทยอยู่ระหว่างการติดต่อซื้อขายสินค้าที่มีโควต้ากับคู่ค้าจีน ควรสอบถามคู่ค้าดังกล่าวว่าได้รับสิทธิโควต้าการนำเข้าสินค้าตามที่กำหนดจากรัฐบาลจีนแล้วหรือไม่ หรือโควต้าการนำเข้าที่ได้รับอนุญาตยังมีปริมาณเหลืออยู่เพียงพอหรือไม่ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหา ณ ด่านปลายทางที่จีน

(2) National Development and Reform Commission และกระทรวงพาณิชย์จีนอาจพิจารณาอนุญาตให้ภาคเอกชนจีนสามารถนำเข้าสินค้าบางรายการเกินโควต้าที่กำหนดได้ โดยสินค้าดังกล่าวจะถูกกำหนดภาษีนำเข้าในอัตราที่ค่อนข้างสูง

3) สินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า

ทางการจีนได้กำหนดให้นิติบุคคลจีนเท่านั้น (บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศจีน) ที่จะสามารถยื่นเรื่องเพื่อขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้า 3 หมวดหลักที่ต้องขออนุญาตก่อนการนำเข้าจริง ซึ่งประกอบด้วย 1) ผักสดและผลไม้ 2) ยางพารา และ 3) สินค้าหมวดพิเศษอื่นๆ

1) ผักสดและผลไม้สด
ผู้นำเข้าต้องขอใบอนุญาตนำเข้าจากกระทรวงพาณิชย์จีน โดยปกติขั้นตอนการขออนุญาตจะใช้เวลาประมาณ 30 วันทำการ และใบอนุญาตมีอายุ 6 เดือน โดยหากต้องการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง จำเป็นจะต้องยื่นขอใบอนุญาตใหม่ต่อไปเรื่อยๆ
** ผลไม้สด 22 ชนิดที่จีนอนุญาตให้นำเข้าจากไทยในปัจจุบัน ได้แก่ กล้วย ขนุน เงาะ ชมพู่ ทุเรียน น้อยหน่า ฝรั่ง มะขาม มะพร้าว มะเฟือง มะม่วง มะละกอ มังคุด ลองกอง ละมุด ลำไย ลิ้นจี่ ส้ม ส้มเขียวหวาน ส้มโอ สับปะรด เสาวรส

2) ยางพารา
ใช้ระบบการอนุญาตการนำเข้าโดยอัตโนมัติ (Automatic Import Permit) ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้
ใช้สัญญาการซื้อขายและหลักฐานการจดทะเบียนของบริษัทผู้นำเข้าจีน เป็นเอกสารประกอบการขออนุญาตนำเข้าในแต่ละครั้ง
ผู้นำเข้าในจีนต้องเป็นบริษัทที่รัฐบาลจีนกำหนด หรือเป็นบริษัท ร่วมทุนต่างชาติที่นำเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตของบริษัท
ผู้นำเข้ายางพาราในจีนต้องขอ Automatic Import Permit ก่อนการนำเข้าจริง (ระยะเวลาในการขออนุญาตประมาณ 10 วันทำการ)
ใบอนุญาตอัตโนมัติสามารถใช้งานได้ไม่เกิน 6 เดือนนับจากวันที่ได้รับอนุมัติการนำเข้า
3) สินค้าหมวดพิเศษอื่นๆ
กระทรวงพาณิชย์จีน กรมศุลกากรจีน และสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) ได้กำหนดรายการสินค้าอื่นๆ ที่ต้องขอใบอนุญาตนำเข้าจากทั้ง 3 หน่วยงานก่อน โดยแบ่งเป็น 12 หมวดหลัก ได้แก่
อุปกรณ์ทางเคมี
อุปกรณ์หลอมโลหะ
เครื่องจักรทางวิศวกรรม
อุปกรณ์การยกเคลื่อนย้าย
อุปกรณ์ผลิตกระดาษ
อุปกรณ์พลังงานไฟฟ้าและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า
อุปกรณ์บรรจุและแปรูปอาหาร
เครื่องจักทางเกษตรกรรม
เครื่องจักรการพิมพ์
เครื่องจักรสิ่งทอ
สินค้าประเภทเรือ
ตลับหมึกพิมพ์
** ข้อมูลเพิ่มเติมที่หมายเหตุ (2) **

หมายเหตุ :

(1) หากผู้ส่งออกไทยอยู่ระหว่างการติดต่อซื้อขายกับคู่ค้าจีน ควรสอบถามคู่ค้าดังกล่าวว่าได้รับใบอนุญาตนำเข้าสินค้ารายการที่กำหนดอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ เพื่อมิให้เกิดปัญหา ณ ด่านปลายทางที่จีน (แต่ละรายการสินค้าจะมีใบอนุญาตนำเข้าแยกกัน เช่น มีใบอนุญาตนำเข้ามะม่วง ก็สามารถนำเข้ามะม่วงได้อย่างเดียว ไม่สามารถนำเข้าทุเรียนได้ เป็นต้น)

(2) สินค้าหมวดพิเศษอื่นๆ จะประกาศใหม่ทุกๆ ปี ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์จีน เช่น รายการสินค้าหมวดพิเศษอื่นๆ ประจำปี 2556 สามารถดูได้ที่ http://wms.mofcom.gov.cn/accessory/201212/1356596816159.xls (ข้อมูลเป็นภาษาจีน)

4) สินค้าทั่วไป

สินค้าที่อยู่นอกเหนือจาก 3 รายการแรกล้วนถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าทั่วไป ซึ่งไม่มีข้อจำกัดด้านปริมาณและการขออนุญาตนำเข้า สามารถนำเข้ามาในจีนได้อย่างเสรีภายใต้กฎระเบียบการนำเข้าจีนตามประเภทของสินค้าที่รัฐบาลจีนได้กำหนดไว้


ประเด็นที่ 2 : ตรวจสอบกฎระเบียบด้านมาตรฐานสินค้านำเข้าของจีน

หลังจากตรวจสอบแล้วว่าสินค้าชนิดใดสามารถส่งออกไปจีนได้ ก่อนการส่งออกควรตรวจสอบกฎระเบียบการนำเข้าสินค้านั้นๆ ของจีน เพื่อเตรียมความพร้อมและปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง โดยทั่วไปกฎระเบียบการนำเข้าจะมุ่งเน้นควบคุมด้านมาตรฐานสินค้า ความปลอดภัย และสุขอนามัยของสินค้าเป็นหลัก โดยข้อกำหนดบางรายการเกี่ยวข้องตั้งแต่ในขั้นตอนการผลิตและจัดเตรียมสินค้าด้วย

ทั้งนี้ กฎระเบียบและมาตรการการนำเข้าของจีนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ผู้ที่ต้องการส่งออกสินค้าไปจีนจึงจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลกฎระเบียบกับหน่วยงานจีนหรือหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้จัดเตรียม สินค้าให้ถูกต้องตามข้อกำหนด และหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อสินค้าถึงจีนได้ โดยข้อกำหนดมาตรการการนำเข้าตลอดจนมาตรฐานสินค้านำเข้าของหน่วยงานจีนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1) มาตรการสุขอนามัยพืช

สำหรับสินค้าผักและผลไม้ ภายใต้การควบคุมโดยสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) www.aqsiq.gov.cn

2) มาตรการสุขอนามัยสัตว์น้ำ

สำหรับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอาหารทะเลสด/แช่แข็ง ภายใต้การควบคุมโดย สำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) www.aqsiq.gov.cn และกรมประมงจีน www.agri.gov.cn

3) มาตรการความปลอดภัยด้านอาหาร

สำหรับสินค้าประเภทเครื่องดื่ม นม อาหารเด็ก อาหารบำรุงร่างกาย อาหารรมควัน เครื่องปรุงแต่งอาหาร น้ำมันสำหรับปรุงอาหาร อาหารกระป๋อง ถั่ว สุรา ธัญญาหาร เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้เห็ด ภายใต้การควบคุมโดย State Administration for Industry and Commerce (SAIC) www.saic.gov.cn และสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) www.aqsiq.gov.cn
4) มาตรฐานยา เวชภัณฑ์ และเครื่องสำอางค์

สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ภายใต้การควบคุมโดย State Food and Drug Administration (SFDA) www.sfda.gov.cn

5) มาตรการความปลอดภัยด้านอาหาร สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและเกษตรอินทรีย์

ภายใต้การควบคุมโดยหน่วยงาน China Organic Food Development Center (OFDC) www.ofdc.org.cn

6) มาตรการการบรรจุภัณฑ์และหีบห่อของผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป

สำหรับสินค้าอาหาร ภายใต้การควบคุมโดยสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) www.aqsiq.gov.cn และกระทรวงพาณิชย์จีน www.mofcom.gov.cn

7) ข้อกำหนดการจัดการติดฉลาก อาหารนำเข้า-ส่งออก

สำหรับสินค้าอาหารและ Pre-packaged food ภายใต้การควบคุมโดยสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) www.aqsiq.gov.cn

8) มาตรฐานการจัดการวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้

ภายใต้การควบคุมโดยสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) www.aqsiq.gov.cn

9) มาตรฐานการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่มีการตัดต่อพันธุกรรม GMOs

ภายใต้การควบคุมโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จีน www.moa.gov.cn

10) การกำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit: MRLs)

ภายใต้การรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุขจีน (MOH) www.moh.gov.cn และ Standardization Administration of China (SAC) www.sac.gov.cn

11) ข้อกำหนดการรับรองความปลอดภัยและสุขอนามัยของคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ธรรมชาติ ด้วยเครื่องหมาย CCC Mark

สำหรับสินค้า 10 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฟฟ้า การสื่อสารโทรคมนาคม อุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย รถยนต์ วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ยางพารา เครื่องจักรกลการเกษตร กระจกนิรภัย เครื่องดนตรี ของเล่น/เกม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ภายใต้หน่วยงาน China Quality Certification Center –CQC (www.cqc.com.cn) และ China Certification Center for Electromagnetic Compatibility – CEMC (www.cemc.org.cn)

หมายเหตุ : นอกจากติดตามตรวจสอบมาตรการและข้อกำหนดการนำเข้าของทางการจีนจากหน่วยงานจีนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสินค้าข้างต้นแล้ว ยังสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

สำนักมาตรการทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ของไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย (www.dft.go.th)
มาตรการด้านสุขอนามัยของพืชและสัตว์ระหว่างจีนและอาเซียน http://www.chinaaseansps.com
กฏระเบียบการนำเข้าผลไม้ในจีน โดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ณ กรุงปักกิ่ง http://www.thaifruits-online.com

ประเด็นที่ 3 : ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้าสินค้าของจีน

ปัจจุบันจีนและอาเซียนมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ซึ่งทำให้สินค้าที่ซื้อขายระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนและจีนได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้า โดยข้อตกลงดังกล่าวแบ่งสินค้าเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สินค้ารายการปรกติทั่วไป (Normal Track) ซึ่งมีอัตราภาษีนำเข้าสุดท้าย คือ 0% รายการสินค้าอ่อนไหว (Sensitive Track) และสินค้าอ่อนไหวสูง (High Sensitive Track) ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องการความคุ้มครองและจะมีระยะเวลาการลด/เลิกภาษีนานกว่าสินค้าปกติ โดยผู้ส่งออกสามารถตรวจสอบอัตราภาษีนำเข้าของสินค้าที่ส่งออกไปจีนได้จากแหล่งข้อมูล ดังนี้

1) เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

หน้า FTA China-ASEAN http://www.thaifta.com
สินค้ารายการปรกติทั่วไปที่ส่งออกไปจีน http://www.thaifta.com/trade/china/china-2010-2012.xls
รายการสินค้าอ่อนไหวของจีน http://www.thaifta.com/trade/china/sensitive_list.pdf
รายการสินค้าอ่อนไหวสูงของจีน http://www.thaifta.com/trade/china/highly_senlist.pdf
2) เว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์จีน

หน้าโปรแกรมคำนวณอัตราภาษีอัตโนมัติ (FTA Tariff Calculator) http://ftanew.mofcom.gov.cn/ftaEn/FTABrowser.jsp
หน้าตารางการลดภาษีของจีนที่จีนลดให้กับประเทศในกลุ่ม FTA China-ASEAN http://www.asean-cn.org/Item/3254.asp
หน้า http://fta.mofcom.gov.cn/dongmeng/dm_guanshui.shtml
หมายเหตุ : สินค้าบางรายการแม้ว่าจะมีศักยภาพส่งออกไปจีน แต่เมื่อนำเข้าไปแล้วต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงจนทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดจีนได้ ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยควรตรวจสอบอัตราภาษีนำเข้าจีนล่วงหน้า เพื่อใช้ในการวางแผนคำนวณต้นทุนสินค้า และเป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกส่งออกสินค้าไปจีน ทั้งนี้ การใช้สิทธิการลดภาษีการนำเข้าตามข้อตกลง FTA จีน – อาเซียน ผู้ส่งออกต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ประเภท Form E ใช้ประกอบในเอกสารการส่งออกด้วย ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความตอนต่อๆ ไป

 
สำหรับบทความในตอนแรกนี้ น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะส่งออกสินค้าไปจีนมีความชัดเจนในเบื้องต้นแล้วว่า สินค้าที่มีอยู่สามารถส่งออกไปจีนได้หรือไม่ และจะต้องเตรียมพร้อมในเรื่องมาตรฐานสินค้าตามกฎระเบียบจีนอย่างไร รวมถึงทราบข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในเบื้องต้น โปรดติดตามบทความตอนต่อไป ซึ่งจะแนะนำถึงการเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกของไทย เร็วๆ นี้

ที่มา : ลงมือทำ
http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/start/step_exports.php

พฤติกรรมผู้บริโภคที่ผู้ประกอบการไทยควรรู้

ล้วงลึก! พฤติกรรมการบริโภคของชาวเฉิงตูที่ผู้ประกอบการไทยควรรู้


ก่อนขยายฐานลูกค้าหรือเจาะตลาดสินค้าแห่งใหม่ นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทราบถึงสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของเมือง รวมทั้ง นโยบายการพัฒนาและการส่งเสริมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนในพื้นทีเป้าหมาย

อย่างที่ทราบโดยทั่วกันว่า ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งที่ 2 ของโลกเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีการค้าและการลงทุนที่เติบโตเป็นอย่างมาก อีกทั้งประชากรส่วนใหญ่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น กลายเป็นที่ยอมรับและถูกจับตามองจากนักธุรกิจทั่วโลกในการที่จะแสวงหาโอกาสเข้ามาทำการค้าการลงทุนเพื่อจะได้มีส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจในตลาดยักษ์ใหญ่แห่งนี้

ศูนย์บีไอซี นครเฉิงตู ขอถือโอกาสนี้แนะนำให้ทุกท่านรู้จัก “นครเฉิงตู” ตลาดศักยภาพขนาดใหญ่ในจีนตะวันตก พร้อมกับเปิดเผย “พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวเฉิงตู”ให้ทุกท่านได้รับทราบกันอย่างเจาะลึก เพื่อให้ผู้ที่สนใจตลาดเฉิงตูได้อุ่นเครื่องเตรียมความพร้อมก่อนที่จะ “ลงพื้นที่จริง”

เศรษฐกิจนครเฉิงตู

นครเฉิงตู (บ้านเกิดหมีแพนด้า) เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ที่ปัจจุบันกำลังมุ่งมั่นยกระดับเมืองและเศรษฐกิจให้มีความเป็นสากลและเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและ Hub ทางการคมนาคมทั้งในและต่างประเทศที่สำคัญของภูมิภาคจีนตะวันตก ทั้งนี้ ในปี 2557 ที่ผ่านมานครเฉิงตูได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีศักยภาพการพัฒนาลำดับที่ 3 ของจีน และเมืองที่มีศักยภาพสำหรับการทำธุรกิจอันดับที่ 10 ของจีน

ในปี 2557 นครเฉิงตูมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) จำนวน 1,005,660 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 8.9% การค้าระหว่างประเทศมีมูลค่า 342,980 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 9.3% แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 207,660 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 4.9% และการนำเข้ามูลค่า 135,320 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 16.70% จัดอยู่ในลำดับที่ 9 ของจีน

สำหรับรายได้หลังหักภาษีของชาวเมืองเฉลี่ยอยู่ที่ 32,810 หยวน เพิ่มขึ้น 9.8% และรายได้ของชาวชนบทเฉลี่ยอยู่ที่ 14,410 หยวน เพิ่มขึ้น 11% โดยชาวเฉิงตูมีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยจำนวน 5,268 หยวน สูงเป็นอันดับที่ 10 ของจีน และเมื่อนำตัวเลขรายได้ของชาวเฉิงตูมาเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ ในจีน จะพบว่าอัตรารายได้สุทธิเฉลี่ยของชาวเฉิงตูจัดอยู่ในระดับปานกลางโดยอยู่ในลำดับที่ 40 ของจีน ดังกราฟต่อไปนี

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขรายได้มิได้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและระดับของการบริโภคสินค้าและบริการของชาวเฉิงตูแต่อย่างใด อัตราการบริโภคของชาวเฉิงตูในปี 2557 มีมูลค่า 420,240 ล้านหยวน เติบโตถึง 12% แบ่งเป็นภาคการค้าส่งมีมูลค่า 24,970 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 11% ภาคการค้าปลีกมีมูลค่า 342,530 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 12.3% ค่าใช้จ่ายที่พักอาศัยมูลค่า 4,660 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 7.6% และค่าบริโภคอาหาร 48,080 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 12.3% สำหรับตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1.3%

พฤติกรรมการบริโภคของชาวเฉิงตู

หลายปีมานี้ เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้รายได้ของประชาชนพุ่งสูงขึ้นและมีกำลังในการจับจ่ายเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ผู้บริโภคเอาใส่ใจและพิถีพิถันในการบริโภคสินค้าเพื่อต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น จึงทำให้พฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

นครเฉิงตู เป็นศูนย์รวมของผู้บริโภคที่มีศักยภาพจำนวนกว่า 14 ล้านคน การบริโภคภายในพื้นที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ชาวเฉิงตูมีกำลังซื้อสูงและมีรสนิยมการเลือกซื้อสินค้าที่ทันสมัย มีคุณภาพและมีความแปลกใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่น ที่ยึดติดความหรูหราเพื่อต้องการแสดงถึงสถานะทางสังคม

ผลการสำรวจการใช้จ่ายของชาวเฉิงตูในปี 2557 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคเฉิงตูใช้จ่ายเงินเฉลี่ยประมาณ 15,357.47 หยวน/คน/ปี เพิ่มขึ้น 8.9% ซึ่งในจำนวนค่าใช้จ่ายดังกล่าวหมดไปกับค่าอาหารมากที่สุดเฉลี่ย 4,426.11 หยวน/คน/ปี และค่าเสื้อผ้าสวมใส่จำนวน 2,263.99 หยวน

จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลสามารถจัดแบ่งพฤติกรรมการบริโภคของชาวเฉิงตูได้ดังนี้

1.มีอุปสงค์ในการบริโภคอย่างแรงกล้า รักการจับจ่ายเป็นชีวิตจิตใจ

ชาวเฉิงตูต่างมีความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า “เงินมีไว้ใช้ ไม่ได้มีไว้เก็บ” ทำให้อัตราการบริโภคในพื้นที่มียอดตัวเลขที่สูงกว่าเมืองในระดับเดียวกัน ซึ่งพฤติกรรมชอบจับจ่าย ชอบดื่มด่ำกับธรรมชาติ สนุกสนานและผ่อนคลายในการดำเนินชีวิต จึงเป็นวิถีชีวิตอันดั้งเดิมที่ฝังรากลึกลงไปในสายเลือดของชาวเฉิงตูมาอย่างช้านาน

2.ใช้อารมณ์เป็นตัวกำหนดการบริโภค

ชาวเฉิงตูโดยส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมการบริโภคที่ค่อนข้างบุ่มบ่ามและตัดสินใจเลือกบริโภคสินค้าอย่างรวดเร็ว โดยมีตัวแปรสำคัญ อาทิ สีสัน ลักษณะ และโปรโมชั่นราคาพิเศษ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้น เร่งเร้าให้ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้านั้นๆ มากขึ้น โดยปราศจากการยับยั้งชั่งใจ และใช้อารมณ์เข้ามาเป็นตัวกำหนดการเลือกซื้อสินค้า แม้ว่าสินค้าดังกล่าวจะไม่จำเป็นหรือไม่เหมาะสมกับตนเองก็ตาม

3.เปี่ยมด้วยความอยากรู้อยากเห็นในผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่

ความอยากรู้อยากเห็น ต้องการทดลองในผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้บริโภคทุกราย สำหรับผู้บริโภคชาวเฉิงตูจะแสดงออกในด้านนี้ได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ สถานที่ใดเปิดห้างใหม่ แบรนด์ใดมีผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ หรือมีสินค้าแบรนด์ใหม่ออกมาวางจำหน่าย ชาวเฉิงตูจะแจ้งข่าวสารต่อๆ กันและจะยกขบวนกันไปบุกสถานที่ดังกล่าวในทันที

4.สินค้าราคาถูกโดนใจผู้บริโภคชาวเฉิงตู

แม้ว่าชาวเฉิงตูจะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้เหมือนกับชาวฉงชิ่งที่มือเติบใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ผู้บริโภคชาวเฉิงตูจะชั่งใจ พิจารณาเปรียบเทียบราคาสินค้าว่าถูกและมีคุณภาพที่เหมาะสมกับราคาหรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าดังกล่าว

5.ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมไม่มีผลต่อการเลือกบริโภคสินค้า

ภาพของชาวเฉิงตูที่ขับรถยนต์ราคาแพงแวะจอดข้างทางเพื่อรับประทานอาหารมีให้เห็นอยู่ทั่วไป ซึ่งผู้บริโภคเหล่านี้จะไม่ยึดติดกับภาพลักษณ์ของตน แม้ว่าจะต้องนั่งรับประทานข้างถนนหรือนั่งร่วมโต๊ะกับผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยกว่าตน โดยชาวเฉิงตูทั้งรวยและจนต่างเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน พอใจกับรายได้ของตนและดำเนินชีวิตของตนอย่างเพลิดเพลิน สิทธิของการบริโภคก็จะขึ้นอยู่กับกำลังซื้อและความต้องการของผู้บริโภคแต่ละราย

6.ชาวเฉิงตูรักการออกเที่ยวกันเป็นครอบครัว

เมื่อถึงช่วงเทศกาลวันหยุดประจำปีหรือวันพิเศษสำหรับคนในครอบครัว ชาวเฉิงตูมักจะเฮฮาสังสรรค์กันทั้งครอบครัว เดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าตามสถานที่ต่างๆ ร่วมกัน ดังนั้น เมื่อเข้าใจถึงพฤติกรรมการบริโภคในข้อนี้ ห้างสรรพสินค้า รวมทั้ง สถานที่ท่องเที่ยว จึงได้จัดโปรโมชั่นจำหน่ายสินค้าและการบริการในลักษณะครอบครัว เพื่อสอดรับกับความต้องการและสร้างความพอใจให้เกิดขึ้นแก่กลุ่มผู้บริโภคดังกล่าว

ผลลัพธ์ที่เกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเฉิงตู

พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวเฉิงตูในปัจจุบันที่เรียกได้ว่า มีรสนิยม มีกำลังซื้อสูง และให้ความสำคัญกับแบรนด์และคุณภาพของสินค้า ทำให้นครเฉิงตูกลายเป็นตลาดศักยภาพขนาดใหญ่และเป็นเป้าหมายการเข้ามาลงทุนขยายกิจการของสินค้าแบรนด์เนมชื่อดังทั้งในและต่างประเทศ

นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ภาคภาษาจีน ได้จัดอันดับให้นครเฉิงตูเป็นเมืองที่มีมูลค่าการจับจ่ายสินค้าหรูหรามากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของประเทศ และ เป็นอันดับ 1 ของภาคตะวันตกประจำปี 2557 ตลอดจนเป็นเมืองที่มี “บิ๊กแบรนด์เนม” อย่าง PRADA, GUCCI, FENDI และ LOUIS VUITTON มากสุดเป็นลำดับที่ 4 ในจีน โดยสามอันดับแรกคือ นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่งและนครเสิ่นหยาง

ขณะเดียวกัน สินค้าแฟชั่น “แบรนด์อินเทรนด์” ที่ติดตลาดโลกในทุกวันนี้อย่างเช่น H&M, ZARA, GAP และ UNIQLO ได้ทยอยตบเท้าก้าวเข้ามาขยับขยายตลาดในนครเฉิงตูอย่างต่อเนื่อง โดยครึ่งแรกของปี 2558 “แบรนด์อินเทรนด์” ชื่อดังได้เข้ามาเปิดสาขาในนครเฉิงตูเป็นจำนวนมากถึง 63 แห่ง จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของจีน โดยอันดับหนึ่งเป็นของนครเซี่ยงไฮ้ จำนวน 151 แห่งและอันดับที่สองคือกรุงปักกิ่ง ที่จำนวน 135 แห่ง

“แบรนด์อินเทรนด์” คือแบรนด์เนมชื่อดังที่มาแรงได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมากที่สุดในปัจจุบันมีจำนวน 10 ราย ได้แก่ H&M, ZARA, UNIQLO, GAP, MUJI, MANGO, C&A, HOLLISTER, FOREVER 21 และ NEW LOOK

กระแสการเข้ามาขยายสาขาของสินค้าแบรนด์เนมในนครเฉิงตู สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคชาวเฉิงตูกล้าใช้เงินเพื่อเลือกซื้อสินค้าที่ตนเองต้องการ “ร้านค้าเปิดที่ไหน ลูกค้าเต็มที่นั่น” มีตลาดกลุ่มผู้บริโภคคุณภาพขนาดใหญ่ จึงทำให้ธุรกิจสินค้าแบรนด์เนมต่างๆ มองเห็นถึงโอกาสในการเพิ่มการลงทุนขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ นครเฉิงตูยังเป็นเมืองเป้าหมายสำคัญในการรองรับโครงการกระจายการลงทุนสร้างห้างสรรพสินค้าตามเมืองใหญ่ทั่วโลก โดยในปี 2557 นครเฉิงตู เมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในจีนตะวันตกมีพื้นที่พร้อมรองรับโครงการดังกล่าวทั้งสิ้น 3,200,000 ตารางเมตรหรือกว่า 100 โครงการ มากเป็นอันดับ 2 ของจีนและอันดับที่ 2 ของโลก โดยอันดับหนึ่งของโลกเป็นของนครเซี่ยงไฮ้ที่มีพื้นที่รองรับโครงการก่อสร้างทั้งสิ้น 3,300,000 ตารางเมตร และอันดับที่ 3 คือ นครเซินเจิ้น มีพื้นที่รองรับโครงการก่อสร้างทั้งสิ้น 2,700,000 ตารางเมตร



การเป็นเมืองเป้าหมายโครงการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าที่สำคัญของโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและต่อเนื่องในพื้นที่ เป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีศักยภาพ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ธุรกิจต่างๆ ในการตัดสินใจเลือกสถานที่เป้าหมายการลงทุน อีกทั้งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า นครเฉิงตู กำลังเดินหน้าก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งจีนตะวันตกและเป็นแหล่งช็อปปิ้งคุณภาพขนาดใหญ่ของโลกในอีกไม่ช้า

ขอฝากส่งท้าย

การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของนครเฉิงตู ทำให้กลุ่มผู้บริโภคในพื้นที่มีกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้น และยังส่งผลกระทบถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มพื้นฐานสำคัญต่อการขยายตัวของตลาดสินค้าและเป็นตัวกำหนดทิศทางการบริโภคภาพรวมในอนาคต

ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวเฉิงตูชื่นชอบและนิยมสินค้าไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอาหาร ผลไม้ รวมถึงสินค้าสปาเพื่อสุขภาพ เครื่องประดับและของตกแต่งบ้าน จึงเกิดเป็นโอกาสในการเข้ามาขยายตลาดสินค้าไทยคุณภาพในตลาดผู้บริโภคชาวเฉิงตู กอปรกับ บทความพฤติกรรมการบริโภคของชาวเฉิงตู ที่ทางศูนย์บีไอซี นครเฉิงตูได้เรียบเรียงมาให้ทุกท่านได้รับทราบและทำความเข้าใจ ซึ่งหวังว่าจะสามารถเป็นตัวช่วยชี้นำโอกาสให้กับนักธุรกิจและผู้ประกอบการไทยที่กำลังสนใจเตรียมบุกขยายตลาดสินค้าไทยในนครเฉิงตู
ขอย้ำอีกครั้งนะครับ พฤติกรรมการบริโภคของชาวเฉิงตูมีนิยามสั้นๆ ที่ว่า “สินค้าแปลกโดนใจ ราคาได้ใจ ตัดสินใจซื้อเลย”



 ที่มา : http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=650&ID=15910